เชียงใหม่ 18 เม.ย. – กรมควบคุมมลพิษ เตรียมเก็บตัวอย่างน้ำแม่น้ำกก รอบ 2 ตั้งแต่ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ถึง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เพื่อประเมินการกระจายตัวของสารหนู หลังรอบแรกพบโลหะหนักหลายจุดเกินมาตรฐาน พร้อมเดินหน้าตรวจสอบตะกอนในลำน้ำและขยายการตรวจครอบคลุมแม่น้ำสายอื่นในพื้นที่ ขณะเดียวกัน สทนช.เสนอเมียนมา ตั้งกลไกร่วมไทย-เมียนมา ภายใต้การประสานงานของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง
นายอาวีระ ภัคมาตร์ ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 (สคพ.1) เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการเก็บตัวอย่างน้ำรอบที่ 2 ตลอดลำน้ำกก โดยจะเริ่มปลายเดือนเมษายนนี้ รวมประมาณ 7-8 จุด ตั้งแต่ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ไปจนถึง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เพื่อประเมินว่าโลหะหนัก โดยเฉพาะสารหนู กระจายตัวลงสู่พื้นที่ท้ายน้ำมากน้อยเพียงใด
นอกจากนี้ได้มีการเก็บตัวอย่างตะกอนจากแม่น้ำกกในวันที่ 31 มี.ค. และวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา รวม 6 จุดใน อ.แม่อาย และ อ.เมืองเชียงราย ซึ่งอยู่ระหว่างตรวจสอบ คาดว่าจะทราบผลราววันที่ 21–22 เม.ย.นี้ พร้อมกันนี้มีแผนขยายการตรวจคุณภาพน้ำไปยังแม่น้ำสาย แม่น้ำกรณ์ และแม่น้ำลาว ซึ่งประชาชนแสดงความกังวล โดยอยู่ระหว่างรอข้อสรุปจากการประชุมระดับจังหวัดที่เลื่อนออกไปก่อน


ด้านสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) โดย ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. ได้มีหนังสือถึงคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS) เพื่อเสนอการจัดตั้ง “กลไกความร่วมมือทวิภาคี” ระหว่างไทยและเมียนมา ในการติดตามคุณภาพน้ำแม่น้ำกกร่วมกัน โดยเสนอให้ MRCS ทำหน้าที่ประสานงาน พร้อมผลักดันกิจกรรมร่วม อาทิ
- การเก็บตัวอย่างน้ำและวิเคราะห์คุณภาพอย่างสม่ำเสมอ
- การแบ่งปันข้อมูล ความรู้ และทรัพยากร
- การอบรมและเสริมสร้างขีดความสามารถ
- การพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้า
-การรายงานต่อสาธารณะเพื่อสร้างความโปร่งใสและมีส่วนร่วมของชุมชน
ทั้งนี้ MRCS ได้ส่งหนังสือถึงอธิบดีกรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเมียนมา เพื่อเสนอแนวทางการจัดตั้งกลไกดังกล่าวร่วมกันแล้ว
ปัญหาเริ่มจากชาวบ้านในพื้นที่ อ.แม่อาย แจ้งว่าพบน้ำแม่น้ำกกมีสีขุ่นและกลิ่นผิดปกติในช่วงฤดูแล้ง กรมควบคุมมลพิษจึงร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ลงเก็บตัวอย่างน้ำเมื่อวันที่ 19 มี.ค. พบว่าคุณภาพน้ำในทุกจุดอยู่ในระดับ “เสื่อมโทรม” โดยมีการปนเปื้อนสารอินทรีย์ แบคทีเรีย และแอมโมเนีย สูงกว่าค่ามาตรฐาน และที่สำคัญพบโลหะหนักเกินเกณฑ์ ได้แก่ ตะกั่ว (Pb) จุดที่ติดชายแดนมีค่าสูงถึง 0.076 มิลลิกรัม/ลิตร (เกณฑ์ไม่เกิน 0.05), สารหนู (As) เกินเกณฑ์ทั้ง 3 จุด (สูงสุด 0.026 มิลลิกรัม/ลิตร จากเกณฑ์ 0.01) คุณภาพน้ำที่เสื่อมโทรมและการตรวจสารพิษเหล่านี้ส่งผลกระทบทั้งต่อสุขภาพคนและสัตว์ รวมถึงความมั่นคงด้านน้ำของชุมชนลุ่มน้ำจำนวนมากในภาคเหนือของไทย. -512 – สำนักข่าวไทย