25 ก.พ. – กระทรวงยุติธรรม โดย สถาบันอนุญาโตตุลาการ ร่วมกับสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ลงนาม MOU การส่งเสริมกระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือก ส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอีให้เติบโตอย่างยั่งยืน
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การส่งเสริมกระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือก ระหว่าง สถาบันอนุญาโตตุลาการ กับ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย โดยมีนายวัลลภ นาคบัว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เข้าร่วมเป็นเกียรติในงาน พร้อมด้วย นายสุริยพงศ์ ทับทิมแท้ ผู้อำนวยการสถาบันอนุญาโตตุลาการ (องค์การมหาชน) และนายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เป็นผู้ลงนามในบันทึกข้อตกลง ณ ห้องสนฉัตร ชั้น 3 อาคารกระทรวงยุติธรรม
สำหรับการลงนามความร่วมมือฯ ดังกล่าว เกิดขึ้นจากความเล็งเห็นร่วมกันในวัตถุประสงค์ที่สำคัญเพื่อจะส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอีให้เติบโตอย่างยั่งยืนในสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยความท้าทายและโอกาสใหม่ ๆ โดยมีแนวทางการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ระบบออนไลน์มาใช้ในการระงับข้อพิพาท ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายและประหยัดเวลาในการดำเนินการ ทั้งยังสามารถรักษาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคู่กรณีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการสนับสนุนการแก้ไขข้อพิพาท แต่ยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในการดำเนินธุรกิจอย่างมั่นคงและยั่งยืน และทำให้เศรษฐกิจไทยแข็งแกร่งขึ้นในอนาคต อันจะเป็นการสร้างความร่วมมือทางวิชาการของทั้งสองหน่วยงานอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
โอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญที่ทั้งสองหน่วยงานได้มาร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ในอนาคต และถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะส่งเสริมความสามารถทางด้านการแข่งขันภาคธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งปัจจุบันธุรกิจเอสเอ็มอีถือว่าเป็นหลักหรือเครื่องจักรสำคัญในการที่จะสร้างระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงยุติธรรมได้มีการเสนอพระราชบัญญัติล้มละลายฯ ที่จะขอให้มีการฟื้นฟูธุรกิจเอสเอ็มอีและบุคคลธรรมดา ซึ่งถือเป็นกระบวนการยุติธรรมทางเลือกที่สามารถนำหลักการของอนุญาโตตุลาการเข้าไปใช้ได้ และเป็นความหวังของรัฐบาลที่คาดว่าจะสามารถทำให้เอสเอ็มอีฟื้นกลับมา ทั้งนี้ ความร่วมมือในครั้งนี้ไม่เพียงแต่เป็นการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี แต่ยังเป็นการสร้างแรงผลักดันในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต และจะทำให้เราเห็นภาพรวมที่ชัดเจนถึงศักยภาพของสถาบันอนุญาโตตุลาการและสมาพันธ์เอสเอ็มอี ในการสร้างงาน สร้างรายได้ และขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจในทุกระดับ ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ และขอให้สถาบันอนุญาโตตุลาการ สถาบันระงับข้อพิพาททางเลือกนี้ กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจไทยต่อไป. -119-สำนักข่าวไทย