กรุงเทพฯ 27 ธ.ค. – รมว.เกษตรฯ คาดปี 68 GDP ภาคเกษตรขยายตัว 1.8-2.8% เดินหน้าขับเคลื่อน 7 แนวทางพัฒนาภาคเกษตร ฝ่าอุปสรรคและความท้าทายทั้ง Climate Change ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เร่งตัวขึ้น มาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี โดยเฉพาะมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม
ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ เดินหน้าในการพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศเพื่อฝ่าฝันอุปสรรคและความท้าทายจากหลายปัจจัย โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) รายงานว่า ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2567 หดตัว 1.1% เมื่อเทียบกับปี 2566 โดยสาขาพืช สาขาประมง และสาขาบริการทางการเกษตรหดตัว ขณะที่สาขาปศุสัตว์ และสาขาป่าไม้ยังคงขยายตัวได้
สำหรับสาขาพืช หดตัวร้อยละ 1.7 เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2566 ต่อเนื่องมาถึงช่วงต้นปี 2567 ทำให้ปริมาณฝนน้อย สภาพอากาศร้อนจัดและแห้งแล้งส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกและการเจริญเติบโตของพืชสำคัญหลายชนิด เกษตรกรบางส่วนงดหรือปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืชบางชนิด การเข้าสู่ปรากฏการณ์ลานีญาในเดือนกันยายน 2567 ทำให้ประเทศไทยเผชิญกับมรสุมและมีฝนตกหนัก ส่งผลให้มีปริมาณน้ำสะสมจำนวนมาก เกิดอุทกภัยและน้ำป่าไหลหลากในหลายพื้นที่ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรบางส่วนได้รับความเสียหาย
ในปี 2567 ภาคเกษตรไทยต้องเผชิญกับความท้าทายที่หลากหลาย ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายภูมิภาคทั่วโลกที่เร่งตัวขึ้น การเปลี่ยนแปลงแนวนโยบายของสหรัฐอเมริกา อาจทำให้สงครามทางการค้ากลับมามีความรุนแรงอีกครั้ง ขณะที่ประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าหลักของไทย ยังเผชิญกับปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้การปรับเปลี่ยนกฎกติกาด้านการค้าและการลงทุนของโลก รวมทั้งมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี โดยเฉพาะมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้ประเทศต่างๆ ต้องเร่งปรับตัวเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ
ทั้งนี้ IMF คาดว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2568 จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.2 เท่ากับการเติบโตของปี 2567 เนื่องจากอัตราเงินเพื่อที่คาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำและอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง ส่งผลให้การใช้จ่ายภายในประเทศเพิ่มขึ้น รวมถึงตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง สะท้อนจากคำจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้นและอัตราการว่างงานที่ลดลง โดยคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ยูโรโซน ญี่ปุ่น จีน และอาเซียน 5 จะขยายตัวร้อยละ 2.2 1.2 1.1 4.5 และ 4.5 ตามลำดับ
ศ.ดร.นฤมล กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรของไทยปี 2568 คาดว่า จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 1.8 – 2.8 โดยมีปัจจัยสนับสนุนดังนี้
- ปริมาณฝนที่มีมากขึ้นจากอิทธิพลของสภาวะลานีญาที่คาดว่า จะยังส่งผลถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ส่งผลดีต่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง รวมถึงการเพาะปลูกในรอบถัดไป
- เศรษฐกิจของไทยขยายตัวได้ดี โดยการบริโภคภายในประเทศ การท่องเที่ยว และการส่งออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
- ความต้องการสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่คาดว่า จะเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับความมั่นคงทางอาหารเนื่องจากเกิดภัยพิบัติในหลายประเทศ รวมถึงปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทานจากภาวะสงครามที่อาจเกิดขึ้น
-การดำเนินนโยบายของภาครัฐเช่น การพัฒนาศักยภาพการผลิตและบริหารจัดการสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิตและการแปรรูปสินค้าเกษตร การยกระดับสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานและมีมูลค่าสูง การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบ การพัฒนาระบบโลจิสติกส์สินค้าเกษตร ตลอดจนการพัฒนาระบบประกันภัยและการรองรับความเสี่ยงต่างๆ
ขณะที่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงและสถานการณ์สำคัญที่ต้องติดตามดังนี้
- การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาจทำให้สภาพอากาศแปรปรวน เกิดวาตภัยและอุทกภัยที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทางการเกษตรและการเจริญเติบโตของพืช
-ราคาปัจจัยการผลิตหลายชนิดที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ทั้งราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ปุ๋ย สารเคมีกำจัดโรคและแมลง และวัตถุดิบอาหารสัตว์ ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรและความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก
-เศรษฐกิจโลกมีทิศทางชะลอตัว ส่งผลต่อการค้าและความต้องการสินค้าเกษตรของไทย
-ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายภูมิภาคทั่วโลก อาจเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย
-กฎระเบียบและมาตรการกีดกันทางการค้าที่เข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสุขอนามัยของสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทยอาจส่งผลกระทบต่อการแข่งขันและการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย
-สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน อาจส่งผลกระทบต่อโซ่อุปทานโลกและการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทย
ศ.ดร.นฤมล กล่าวอีกว่า เพื่อกระตุ้น GDP ภาคเกษตรในปี 2568 ให้เติบโตจึงกำหนดแนวทางพัฒนาภาคเกษตรในมิติต่างๆ โดยจะต้องใช้ทั้งความรู้ ทักษะ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาสนับสนุนรวม 7 แนวทางดังนี้
1) การรับมือกับภัยธรรมชาติซึ่งต้องมีการวางแผนและดำเนินมาตรการเชิงรุกร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่การป้องกัน แก้ไขปัญหา และฟื้นฟู เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ
2) การประกันภัยสินค้าเกษตร โดยการส่งเสริมการประกันภัยพืชผล เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ที่แน่นอน
3) การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และนวัตกรรม เพื่อลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และต่อยอดสู่เกษตรและบริการมูลค่าสูง
4) การทำการเกษตรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ด้วยแนวทางของ BCG โดยการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อรองรับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม เช่น EUDR CBAM และ Carbon Credit การแก้ปัญหา PM 2.5 ส่งเสริมการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรไปใช้ประโยชน์ และส่งเสริมการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน
5) การยกระดับสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง การสร้าง Brand หรือ Story ของจังหวัด/อำเภอ โดยเน้นการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ รวมถึงส่งเสริมการสร้างอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร
6) การพัฒนาเครื่องมือในการติดตามสถานการณ์ภาคเกษตรในระดับโลก โดยอาศัยข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อใช้วิเคราะห์ เตือนภัย และเฝ้าระวังปัจจัยที่ส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายต่อการทำการเกษตร
7) การปรับปรุงกฎระเบียบ/กฎหมาย โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการศึกษากฎระเบียบและกฎหมายของประเทศคู่ค้าที่จะมีผลกระทบต่อการค้าสินค้าเกษตรของไทย เพื่อการปรับตัวและเตรียมการให้ทันต่อสถานการณ์
ปัจจุบันไทยมีเนื้อที่ทางการเกษตรรวม 147.73 ล้านไร่ หรือร้อยละ 46.7 ของเนื้อที่ทั้งประเทศ มีประชากรอยู่ในภาคเกษตรกว่า 30 ล้านคน เป็นแรงงานเกษตร 19.72 ล้านคน และมีจำนวนครัวเรือนเกษตรประมาณ 7.9 ล้านครัวเรือน โดยในปี 2568 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเร่งขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ เพื่อให้เกษตรกรไทย “มีกิน มีใช้ มีรายได้พอเพียง”. -512 – สำนักข่าวไทย