24 ส.ค. – เศรษฐกิจดิจิทัลเป็นเครื่องยนต์หนึ่งที่ได้รับการคาดหวังจากภาครัฐและภาคเอกชนให้เป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไปสู่อนาคต แต่การเข้าถึงโอกาสในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลของทั้งผู้ซื้อและผู้ขายในโลกการค้าออนไลน์ ยังเป็นเรื่องที่ต้องการการพัฒนาอีกมาก กล่าวคือ ผู้บริโภคทั่วโลกได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยเฉพาะหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยหันไปจับจ่ายใช้สอยในโลกการค้าออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ มากขึ้น ทำให้ E-Commerce เติบโตอย่างก้าวกระโดด
eMarketer บริษัทวิจัยการตลาดออนไลน์ชั้นนำของโลก คาดการณ์ว่าตลาด E-Commerce โลกมีแนวโน้มขยายตัวได้ 8.1-9.4% ในช่วงปี 2566-2569 แม้ชะลอความร้อนแรง แต่ก็สูงกว่าตลาดค้าปลีกปกติที่คาดว่าจะขยายตัวเพียง 3.4-4.3% ขณะที่ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs จำนวนไม่น้อยยังไม่กล้ารุกเข้าไปในเวทีการค้าออนไลน์
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า การค้าขายออนไลน์หรือ E-Commerce ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีในหลาย ๆ ตลาด เป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ที่ควรเร่งปรับตัว เพื่อเข้าไปสู่ตลาดต่างประเทศที่มีขนาดใหญ่กว่าและเติบโตเร็วกว่าเศรษฐกิจไทย ด้วยกำลังซื้อและความนิยมของประชากรในประเทศนั้น ๆ ที่สนใจและให้ความนิยมสินค้าไทย รวมถึงสินค้าที่มีอัตลักษณ์ความเป็นไทย อาทิ อาหาร สมุนไพร และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ
โครงสร้าง SMEs ไทยมีความย้อนแย้งในลักษณะมากแต่น้อย ผู้ประกอบการ SMEs ทั้งระบบมีจำนวน 3.18 ล้านราย คิดเป็น 99.6% ของจำนวนผู้ประกอบการในประเทศไทย แต่มีบทบาทต่อระบบเศรษฐกิจเพียง 35% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่มี 13,580 ราย คิดเป็นสัดส่วน 0.4% กลับมีบทบทต่อ GDP ประเทศถึง 59% นอกจากนี้ในจำนวนผู้ประกอบการ SMEs ทั้งหมด 3.18 ล้านราย เป็นผู้ส่งออกไม่ถึง 30,000 ราย หรือต่ำกว่า 1% เท่านั้น จากตัวเลขเห็นได้ว่า สามารถเพิ่มสัดส่วน SMEs ให้เป็นผู้ส่งออกได้อีกมาก
ดร.รักษ์ กล่าวว่า EXIM BANK ภายใต้บทบาท Thailand Development Bank ที่มุ่งส่งเสริมการพัฒนาของภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจ โดยเชื่อมโยงกับความยั่งยืน และไม่ทิ้งคนตัวเล็ก จากการวิเคราะห์ข้อมูลและสำรวจความต้องการของผู้ประกอบการ SMEs พบว่า การที่ SMEs ไม่กล้าส่งออกเป็นเพราะมีความกลัว เช่น ไม่รู้จักลูกค้า ไม่รู้จะขายของให้ใคร ไม่เก่งด้านภาษาต่างประเทศ กลัวถูกโกงจึงไม่อยากเสี่ยง เป็นต้น EXIM BANK จึงจับมือร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย ให้พร้อมเริ่มต้นหรือขยายธุรกิจส่งออก ควบคู่กับการพัฒนา E-Commerce Platform ให้ SMEs ไทยมีทางลัดออกสู่ตลาดโลกได้สะดวกขึ้น
EXIM BANK มีโครงการความร่วมมือกับผู้บริหารแพลตฟอร์มระดับโลก อาทิ Amazon.com เพื่อสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพ SMEs ไทยผ่านการอบรมให้ความรู้ ให้คำปรึกษาแนะนำ ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์และเงินทุน ให้ SMEs ไทยสามารถเริ่มต้นค้าขายออนไลน์ระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง
นางภรณี ช็อมบร็อง ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายบริหารบัญชีลูกค้า Amazon Global Selling Thailand กล่าวว่า จากการศึกษาของ Amazon พบว่าสินค้าไทยส่งออกไปตลาดสหรัฐ มีหลากหลายประเภท อาทิ ผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องประดับ สิ่งทอ ของใช้ภายในบ้าน เฟอร์นิเจอร์ ซึ่งเป็นรายการสินค้าที่ผู้บริโภคต่างชาติให้ความสนใจและเป็นเทรนด์ที่สอดคล้องกับระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อบน Amazon Platform หากผู้ประกอบการไทยสามารถจับโอกาสทางธุรกิจนี้ได้ อาจช่วยให้ธุรกิจไทยมีโอกาสขยายตลาดได้มากขึ้น อาทิ ตลาดญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สิงคโปร์ สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป
นางภรณี กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลของ Amazon พบว่า 75% ของผู้ประกอบการไทยมองว่า ภาษาเป็นอุปสรรคลำดับต้น ๆ ในการขยายธุรกิจไปยังตลาดต่างประเทศ ซึ่ง Amazon จะมีทีมช่วยเหลือทางด้านภาษาและแนะนำเครื่องมือวิเคราะห์คำค้นหาของผู้บริโภค เพื่อเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกเพื่อที่ผู้ขายจะสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ พัฒนาเครือข่ายทางธุรกิจผ่านความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ รวมทั้งพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืนภายใต้โมเดล Bio-Circular-Green Economy
กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า การทำตลาด E-Commerce ในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว ผู้ขายหรือผู้ส่งออกไทยอาจต้องเสนอขายสินค้าที่ประหยัดและคุ้มค่า เช่น จัดโปรโมชันแบบรวมกลุ่ม ขายราคาถูกกรณีที่ผู้ซื้อรวมกลุ่มกันสั่งซื้อในปริมาณมาก ซึ่งแม้กำไรต่อชิ้นจะลดลง แต่ก็ชดเชยด้วยปริมาณการจำหน่ายที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้บริโภคได้รับประสบการณ์ที่ดีในการซื้อสินค้าและอาจกลับมาซื้อซ้ำ นอกจากนี้ การมีเกมหรือกิจกรรมแจกรางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ จะช่วยดึงดูดให้ผู้บริโภคใช้เวลาอยู่บน Platform นานขึ้น เพิ่มโอกาสซื้อสินค้าและเพิ่มความผูกพันกับร้านค้าหรือ Platform นั้นมากขึ้น เช่น การเล่นเกมรดน้ำต้นไม้ให้ผู้ซื้อเข้ามารับเหรียญรางวัลสำหรับแลกซื้อสินค้าในอนาคต
“การค้าออนไลน์ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอดของธุรกิจในโลกยุคใหม่ EXIM BANK จึงจับมือกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ เติมความรู้ เติมโอกาส และเติมเงินทุนให้ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะคนตัวเล็ก แข่งขันได้ในตลาดโลกซึ่งยังมีความต้องการและมีกำลังซื้อสินค้าไทยอีกมาก แม้ในวิกฤติหรือความท้าทายย่อมมีโอกาสสำหรับผู้ที่มีความกล้าและความพร้อมจะเดินหน้าธุรกิจเพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคและการใช้ชีวิตในรูปแบบวิถีใหม่ เป็นการกระจายตลาดและสร้างโอกาสใหม่ ๆ ในโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและกำลังขับเคลื่อนไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล” ดร.รักษ์ กล่าว . – สำนักข่าวไทย