21 พ.ค.67 นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เป็นประธานในพิธีรับมอบโบราณวัตถุ จำนวน 2 รายการ จากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน สหรัฐอเมริกา โดยมีนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร นาย John Guy (จอห์น กาย) ผู้แทนพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน สหรัฐอเมริกา พร้อมด้วยคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย
โบราณวัตถุ 2 รายการ ที่ประเทศไทยได้รับคืนจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน สหรัฐอเมริกา ครั้งนี้ ถือเป็นสมบัติของประชาชนชาวไทยทุกคน เป็นหลักฐานแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของดินแดนประเทศไทยในอดีตเมื่อกว่าพันปี จัดเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งของชาติ ควรค่าแก่ความภาคภูมิใจ
ทั้งนี้ เมื่อเดือนธันวาคม 2566 กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ได้รับการประสานจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน สหรัฐอเมริกา ว่ามีความประสงค์ส่งมอบโบราณวัตถุ จำนวน 2 รายการ คืนให้กับประเทศไทย ประกอบด้วย ประติมากรรมสำริดรูปพระศิวะ หรือที่รู้จักกันในนาม “โกลเด้นบอย” และประติมากรรมรูป “สตรีพนมมือ” เนื่องจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน พบว่า โบราณวัตถุดังกล่าวถูกลักลอบนำออกนอกราชอาณาจักรไทยโดยผิดกฎหมาย จึงได้ถอดโบราณวัตถุทั้ง 2 รายการ ออกจากบัญชีของพิพิธภัณฑ์ และประสานขอส่งคืนให้ประเทศไทย เพื่อแสดงถึงการที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน ให้ความสำคัญกับที่มาอันถูกต้องของโบราณวัตถุในครอบครอง
โดยกรมศิลปากรจะเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าชมความงามของโบราณวัตถุทั้ง 2 รายการ พร้อมทั้งเคลื่อนย้ายประติมากรรมสำริดขนาดใหญ่ ขุดพบจากปราสาทสระกำแพงใหญ่ จังหวัดศรีสะเกษ ที่มีรูปแบบใกล้เคียงกับประติมากรรมโกลเด้นบอย จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย มาจัดแสดงร่วมกัน ณ ห้องลพบุรี อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป
สำหรับประติมากรรมสำริดรูปพระศิวะ หรือ“โกลเด้นบอย (Golden Boy)” เป็นศิลปะเขมรในประเทศไทย สมัยเมืองพระนคร แบบบาปวน พุทธศตวรรษที่ 16 (ประมาณ 900 ปีมาแล้ว) สำริดกะไหล่ทอง ประดับตกแต่งด้วยการฝังเงิน สูง (รวมเดือย) 128.9 กว้าง 35.6 ลึก 34.3 ซม. สูงไม่รวมเดือย 105.4 ซม. ประติมากรรมชิ้นนี้เป็นรูปสำริดที่สมบูรณ์ที่สุดที่ยังหลงเหลือจากสมัยเมืองพระนคร เป็นประติมากรรมกลุ่มเล็กๆ ที่มีการหล่อด้วยโลหะเป็นเทพในศาสนาฮินดูที่มีความเกี่ยวข้องกับธรรมเนียมของราชสำนัก พบในกัมพูชาและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย
สำหรับประติมากรรมรูป “สตรีนั่งชันเข่าพนมมือ” เป็นศิลปะเขมรในประเทศไทย สมัยเมืองพระนคร แบบบาปวน พุทธศตวรรษที่ 16 (ประมาณ 900 ปีมาแล้ว) สำริด ประดับตกแต่งด้วยการฝังเงิน มีร่องรอยกะไหล่ทอง สูง 43.2 กว้าง 19.7 ซม. ประติมากรรมนี้ สันนิษฐานว่าเป็นพระราชเทวี หรือสตรีชั้นสูงในราชสำนัก สวมเครื่องประดับ ประทับชันเข่าพนมมือแสดงความเคารพแด่เทพเจ้า ที่ดวงตาและคิ้วมีร่องรอยการฝังด้วยวัตถุที่น่าจะเป็นแก้วสีดำ
ภาพ ชำนาญวุฒิ สุขุมวานิช