By ภุสพงศ์ ฉายประเสริฐ
ชาติอาเซียนอย่างน้อย 3 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม-สิงคโปร์-ไทย ทยอยเปิดพรมแดนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ หวังให้ช่วยฟื้นเศรษฐกิจ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยังต้องเฝ้าระวังการกลับมาแพร่ระบาดของโควิด-19
เวียดนามชิงเปิดเที่ยวบินพาณิชย์สู่ 6 ประเทศในเอเชีย
สำนักงานการบินพลเรือนของเวียดนาม ประกาศกลับมาเปิดบริการเที่ยวบินพาณิชย์ไปยัง 6 ประเทศในเอเชียตั้งแต่กลางเดือนกันยายนนี้ โดยจุดหมายปลายทาง 6 เมืองดังกล่าว ได้แก่ นครกว่างโจว ของจีน, ไทเป ไต้หวัน, กรุงโซล เกาหลีใต้, กรุงโตเกียว ญี่ปุ่น, กัมพูชา และ สปป ลาว โดยชาวต่างชาติที่จะเดินทางมายังเวียดนามต้องปฏิบัติตามระเบียบต่าง ๆ เช่น จะต้องถูกกักตัวโดยออกค่าใช้จ่ายเอง และมีผลตรวจว่าปลอดเชื้อโควิดก่อนขึ้นเครื่องไม่เกิน 72 ชั่วโมง เป็นต้น
ทางการเวียดนามระบุว่า มีชาวต่างชาติแสดงความจำนงจะเดินทางมายังกรุงฮานอย และนครโฮจิมินห์ ซึ่งเป็น 2 จุดบินที่กลับมาเปิดให้บริการ ราว 5,000 คน/สัปดาห์ แต่ช่วงแรกนี้จะมีเที่ยวบินให้บริการไม่มาก เพียง 1-2 สัปดาห์/เที่ยว/เส้นทางเท่านั้น และส่วนใหญ่ให้บริการโดยสายการบินเวียดนามแอร์ไลน์ และเวียตเจ็ท ซึ่งเที่ยวบินระหว่างประเทศเที่ยวแรกของเวียดนามแอร์ไลน์ออกเดินทางจากกรุงฮานอยไปยังกรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2563 และมีเที่ยวบินจากนครโฮจิมินห์ ไปยังโตเกียวในวันเดียวกัน
ในช่วงแรกเวียดนามสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดีมาก แต่เกิดการระบาดรอบ 2 ที่เมืองดานังเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม และสามารถควบคุมได้อีกครั้งหลังผ่านไปประมาณ 1 สัปดาห์ โดยจำนวนผู้ติดเชื้อรวมอยู่ที่ประมาณ 1,000 คน (ข้อมูล ณ 22 ก.ย.63) ทำให้ทางการเริ่มกลับมาผ่อนคลายข้อจำกัดต่าง ๆ มากขึ้น เช่น อนุญาตให้เปิดโรงเรียนทั่วประเทศเมื่อต้นเดือนกันยายน และให้ธุรกิจต่าง ๆ กลับมาเปิดให้บริการได้ตามปกติ
สิงคโปร์ทยอยเปิดช้าๆ อย่างจำกัด
แม้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในสิงคโปร์จะสูงถึงกว่า 57,000 คน (ข้อมูล ณ 22 ก.ย.63) และตัวเลขรายวันยังคงเพิ่มขึ้นเป็นเลขสองหลัก แต่สิงคโปร์ก็เตรียมแผนที่จะเปิดรับชาวต่างชาติอย่างช้าๆ ภายใต้ข้อจำกัด ทั้งจำนวนผู้เดินทาง และมีมาตรการป้องกันด้านสาธารณสุข โดยช่วงแรกจะเปิดรับชาวต่างชาติที่เดินทางมาจากประเทศที่มีความเสี่ยงของการแพร่ระบาดต่ำ
ล่าสุด สิงคโปร์ทำความตกลงกับบรูไน นิวซีแลนด์ และญี่ปุ่น อนุญาตให้ผู้เดินทางจากทั้ง 3 ชาติ เดินทางเข้าสู่สิงคโปร์ได้แล้ว โดยมีเพียงใบรับรองแพทย์ว่าผ่านการตรวจเชื้อโควิด-19 ทั้งก่อนและเมื่อเดินทางมาถึง แต่ไม่ต้องถูกกักตัวแต่อย่างใด ซึ่งถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สิงคโปร์ประกาศปิดประเทศตั้งแต่เดือนมีนาคม นอกจากนี้ ทางการสิงคโปร์ยังจะพิจารณาเปิดรับชาวต่างชาติจากบางประเทศเพิ่มอีก โดยจะให้กักตัวเพียง 7 วัน
ก่อนหน้านี้เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทางการสิงคโปร์อนุญาตให้ผู้โดยสารเครื่องบินสามารถแวะต่อเครื่องที่สนามบินชางงีได้ เพื่อหวังลดผลกระทบต่อธุรกิจการบิน ทั้งของสนามบินชางงี ซึ่งวางตำแหน่งเป็นศูนย์กลางการบิน (Hub) ของภูมิภาค รวมทั้งธุรกิจของสายการบินในเครือสิงคโปร์แอร์ไลน์ที่กำลังซบเซาอย่างหนัก
ไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวระยะยาวอยู่ได้เกือบ 9 เดือน
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2563 มีมติอนุมัติหลักการจะเปิดให้วีซ่าพิเศษแก่นักท่องเที่ยว (Special Tourist Visa : STV) ให้สามารถเข้ามาพำนักในประเทศไทยได้นาน 90 วัน และสามารถต่อวีซ่าได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 90 วัน รวม 270 วัน มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึง 30 กันยายน 2564 หรือเป็นเวลา 1 ปี
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งเสนอเรื่องดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ คาดหวังว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยตามโครงการนี้ 1,200 คน/เดือน และสร้างรายได้ประมาณ 1,000 ล้านบาท/เดือน แม้จะน้อยมากเมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย 3.3 ล้านคน/เดือน สร้างรายได้ถึง 160,000 ล้านบาท/เดือน แต่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวก็มองว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีจากการเปิดประเทศในฤดูท่องเที่ยว หรือ High Season พอดี
อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางมาไทยตามโครงการนี้ยังมีข้อจำกัดหลายด้าน ได้แก่
• จะต้องมาจากประเทศที่มีความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่ำ
• มีเอกสาร Fit to Fly และผ่านการตรวจเชื้อโควิด-19 ทั้งก่อนและเมื่อเดินทางถึง
• ต้องทำประกันสุขภาพคุ้มครองค่ารักษาไม่ต่ำกว่า 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ
• ต้องกักตัว 14 วัน โดยออกค่าใช้จ่ายเอง และต้องจองล่วงหน้า
• หลังครบระยะกักตัวแล้ว ต้องยินยอมให้ถูกติดตามตัวโดยใช้แอปพลิเคชัน หรือสวมสายรัดข้อมือ
นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาจะเป็นกลุ่มที่เดินทางด้วยเครื่องบินส่วนตัว และเที่ยวบินเช่าเหมาลำเป็นหลัก เพราะทางการไทยยังไม่มีแผนชัดเจนที่จะเปิดให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์ระหว่างประเทศ
มาเลเซียรับเฉพาะนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 มาเลเซียตั้งเป้าจะเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำด้านบริการทางการแพทย์สำหรับชาวต่างชาติ โดยจำนวนนักท่องเที่ยวเฉพาะด้านนี้ เพิ่มขึ้นจาก 643,000 คนในปี 2544 เป็นกว่า 1.2 ล้านคนในปี 2561 สร้างรายได้เพิ่มขึ้นจาก 127 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นกว่า 362 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
เมื่อต้องเผชิญกับโควิด-19 แม้จะยังเปิดรับนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอยู่ แต่ก็มีข้อจำกัดอย่างมาก โดยจำกัดเฉพาะผู้ที่มาจากบรูไน สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และมีเงื่อนไขที่เข้มงวดอย่างยิ่ง สภาการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพของมาเลเซียยอมรับว่า ชาวต่างชาติที่เข้ามาใช้บริการทางการแพทย์ในมาเลเซียปีนี้ น่าจะเหลือเพียง 300,000 คน ทำรายได้ให้โรงพยาบาลต่างๆ เพียง 121 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (500 ล้านริงกิต) และจะยังมีผลกระทบต่อเนื่องไปถึงกลางปี หรือปลายปีหน้า
รายได้จากนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของมาเลเซีย • ปี 2561 362 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
• ปี 2562 412 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
• ปี 2563 121 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
(เป้า 485 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
• คาดการณ์ปี 2564 194 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ชาติอาเซียนส่วนใหญ่ยัง “ปิดไม่มีกำหนด”
ความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงทำให้แผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติทำได้แบบจำกัด และบางประเทศยังไม่สามารถดำเนินการได้ ชาติในอาเซียนส่วนใหญ่ขณะนี้จึงยังคงสถานะปิดประเทศต่อไปไม่มีกำหนด และอนุญาตให้ชาวต่างชาติบางกลุ่ม เช่น นักการทูต เจ้าหน้าที่รัฐ หรือนักธุรกิจภายใต้ข้อตกลงเฉพาะ และเงื่อนไขที่กำหนด เท่านั้น ที่เดินทางเข้าประเทศได้ แม้จะต้องเผชิญความยากลำบากจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างหนักก็ตาม.