กรุงเทพฯ 18 พ.ย. – ลูกช้างป่าหลงโขลงจากห้วยขาแข้งเริ่มซึมซับพฤติกรรมจากพังทีน่า ซึ่งเจ้าหน้าที่นำเข้ามาเทียบเพื่อให้เป็นแม่เลี้ยงดูลูกช้างต่อไป ล่าสุดลูกช้างกินหญ้า หลังจากที่เห็นแม่ช้างกิน และสามารถย่อยได้ดี เนื่องจากควาญนำมูลแม่ช้างซึ่งมีจุลินทรีย์ช่วยย่อยให้ลูกช้างกิน
นายปิยะ หนูนิล ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ (สบอ.) ที่ 13 กล่าวว่า ได้ปรับแนวทางการดูแลอนุบาลลูกช้างพลัดหลงโขลงจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานีที่มาเทียบหา “แม่รับ” ที่เขตรักษาพันธุ์สัตวป่าดอยผาเมือง จ.ลำปาง โดยให้พี่เลี้ยงชุดใหม่เข้าทำหน้าที่แทนพี่เลี้ยงจากห้วยขาแข้งมากขึ้น นอกจากนี้ยังให้เจ้าหน้าที่ที่เคยนอนในคอกช้างย้ายขึ้นไปนอนบนสำนักงานหน่วยพิทักษ์ป่าหัวทุ่งซึ่งอยู่ห่างคอกประมาณ 50 เมตร โดยให้นำอุปกรณ์ นม อาหารเสริมที่เตรียมไว้ข้างคอกช้างขึ้นมาเก็บที่สำนักงานด้วย
ทั้งนี้คณะผู้ดูแลลูกช้างหรือที่เรียกชื่อว่า “น้องทับเสลา” ต้องการให้ใกล้ชิดกับพังทีน่ามากขึ้น ซึ่งพี่เลี้ยงจะคอยสังเกตพฤติกรรมห่างๆ ตลอดเวลา จากการนำพังทีน่าเข้ามาทำความคุ้นเคยกับทับเสลาเป็นวันที่ 3 พบว่า แม่ช้างตอบรับลูกช้างดี โดยบางช่วงเดินไปทำท่าจะเหยียบคอกไม้ไผ่ แต่ยังไม่กล้า ส่วนลูกช้างจะถอยหลังเข้าหาพังทีน่า ยืนหันข้างอยู่ใกล้ๆ นานขึ้น รวมทั้งยอมให้แม่ช้างใช้งวงลูบตัวบ้าง
นายปิยะกล่าวต่อว่า ลูกช้างเริ่มซึมซับพฤติกรรมแม่ช้าง ด้วยการหัดกินหญ้า พร้อมกับที่แม่ช้างกินอยู่ข้างคอก โดยที่ก่อนมาดอยผาเมืองนั้น ยังไม่กินหญ้า รวมทั้งพี่เลี้ยงนำมูลของแม่ช้างซึ่งมีจุลินทรีย์ย่อยย่อยกากใยของหญ้าและใบไม้ได้ให้ลูกช้างกิน เมื่อลูกช้างขับถ่ายออกมา ลักษณะมูลเป็นปกติ แสดงว่า ย่อยกากใยได้ดีขึ้น
“มีแผนให้แม่ช้างอยู่ใกล้ชิดลูกช้างมากขึ้นตามลำดับ โดยหากทุกฝ่ายเห็นว่า พร้อมแล้ว จะให้แม่ช้างเข้าไปอยู่ในคอกกับลูกช้าง โดยมีเจ้าหน้าที่สังเกตพฤติกรรมอยู่ห่างๆ ตลอดเวลา เพื่อให้ทั้งสองปรับตัวเข้าหากันได้โดยเร็ว รวมทั้งลูกช้างจะได้กินนมจากแม่ช้างเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงในอนาคต” นายปิยะกล่าว . – สำนักข่าวไทย