เชียงใหม่ 8 เม.ย. – กรมควบคุมมลพิษตรวจคุณภาพน้ำในลำน้ำแม่กก จังหวัดเชียงใหม่ พบอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรม โดยมาจากหลายปัจจัย ทั้งยังพบโลหะหนักเกินมาตรฐานซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการทำเหมืองแร่
นายอาวีระ ภัคมาตร์ ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 (สคพ.1) เชียงใหม่กรมควบคุมมลพิษกล่าวว่า ได้ติดตามคุณภาพน้ำลุ่มน้ำแม่กกตามที่ได้รับมอบหมายจากนางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ โดยเก็บตัวอย่างน้ำผิวดินเพื่อตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำ กรณีแม่น้ำกกในพื้นที่อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ซึ่งมีสีขุ่นผิดปกติ ชาวบ้านในพื้นที่มีความกังวลในการใช้น้ำในการอุปโภคบริโภคและกิจกรรมทางน้ำในช่วงฤดูร้อน
ทั้งนี้ได้กำหนดจุดตรวจ 3 จุดได้แก่ จุดที่ 1 (แม่อาย 01) ชายแดนไทย-เมียนมา หย่อมบ้านแก่งตุ๋ม ม.14 ต.ท่าตอน จุดที่ 2 (แม่อาย 02) สะพานมิตรภาพแม่นาวาง-ท่าตอน ต.ท่าตอน และจุดที่ 3 (แม่อาย 03) บ้านผาใต้ ม.12 ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่


ผลการตรวจคุณภาพน้ำแม่น้ำกก (แหล่งน้ำประเภทที่ 2 ได้รับน้ำทิ้งจากกิจกรรมบางประเภท ใช้ประโยชน์เพื่อการอนุรักษ์สัตว์น้ำ การประมง การว่ายน้ำ และกีฬาทางน้ำ) อยู่ในเกณฑ์ “เสื่อมโทรม” ทั้ง 3 จุด จากพารามิเตอร์ที่สำคัญมีค่าเกินมาตรฐาน ดังนี้
- พารามิเตอร์ที่ส่งผลต่อคุณภาพน้ำ โดยมีค่าเกินมาตรฐาน ได้แก่ ความสกปรกในรูปสารอินทรีย์ (BOD) การปนเปื้อนของแบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์มทั้งหมด (TCB) ฟีคอลโคลิฟอร์มแบคทีเรีย (FCB) เกินทั้ง 3 จุด ซึ่งแสดงถึงแหล่งน้ำมีความสกปรกในรูปสารอินทรีย์สูง และการปล่อยน้ำเสียจากแหล่งชุมชนจากกิจกรรมต่างๆ โดยไม่ได้ผ่านการบำบัดลงสู่แหล่งน้ำ มีการปนเปื้อนจากอุจจาระของสัตว์เลือดอุ่น รวมถึงแอมโมเนีย (NH3) สูงเกินมาตรฐาน บริเวณจุดเก็บแม่อาย 03 เกิดจากการย่อยสลายของโปรตีนซากพืชซากสัตว์ในแหล่งน้ำ
- ค่าความขุ่นสูง โดยเฉพาะจุดแรกที่ติดชายแดนไทย-เมียนมา คือ 988 NTU รวมทั้งจุดที่ 2 และจุดที่ 3 คือ 171, 139 NTU ตามลำดับ ซึ่งแหล่งน้ำโดยทั่วไปไม่ควรมีค่าเกิน 100 NTU (1 NTU = 1มิลลิกรัม ของความขุ่น (formazin) ในน้ำ 1ลิตร) เพราะอาจจะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพของสัตว์น้ำและพืชน้ำ
- โลหะหนัก พบพารามิเตอร์ที่เกินมาตรฐานได้แก่ ตะกั่ว (Pb) และ สารหนู (As) โดยพบดังนี้ ตะกั่ว (Pb) เกินจุดที่ 1 บริเวณชายแดน มีค่าเท่ากับ 0.076 มิลลิกรัมต่อลิตร (mg/L) (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 0.05 mg/L) โดยการปนเปื้อนตะกั่วในแหล่งน้ำมักมีสาเหตุมาจากการปล่อยน้ำเสียจากโรงงาน จากเหมืองแร่ และจากน้ำฝนที่ชะล้างสารตะกั่วจากอากาศและพื้นดินลงสู่แหล่งน้ำ ผลต่อร่างกายของตะกั่วที่เป็นโลหะหนักที่มีพิษร้ายแรงต่อมนุษย์และสัตว์ สามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง เช่น ทางอาหารและน้ำ ทางลมหายใจ และทางผิวหนัง พิษจากตะกั่วทำให้ร่างกายมีความผิดปกติต่างๆ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน มีอาการทางประสาทและกล้ามเนื้อ นอนไม่หลับ คลุ้มคลั่ง เกิดความคิดสับสน ปวดศรีษะ ถ้าได้รับปริมาณมากอาจชักและตายได้ ร่างกายตามารถขับถ่ายตะกั่วออกมาได้เพียงบางส่วน ส่วนที่เหลือจะสะสมอยู่ในร่างกายที่ตับ ไต เลือดและเซลล์ต่างๆ ซึ่งเป็นอันตรายได้ในภายหลัง สารหนู (As) เกินทั้ง 3 จุด มีค่าเท่ากับ 0.026 0.012 และ 0.013 mg/L ตามลำดับ (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 0.01 mg/L) โดยสารหนูพบได้ในน้ำธรรมชาติ โดยเฉพาะน้ำบาดาลซึ่งเกิดจากการละลายของแร่ธาตุในน้ำ รวมถึงน้ำทิ้งจากโรงงานที่มีการใช้ยากำจัดศัตรูพืชหรือสัตว์ โดย “สารหนู” จะส่งผลกระทบกับคนที่เล่นน้ำจะแพ้ ระคายเคือง มีผื่นคัน ในระยะยาวหากรับต่อเนื่องอาจเป็นมะเร็งได้ หากดื่มน้ำที่มีสารหนูเข้าไปก็จะส่งผลโดยตรงต่อกระบวนการทางเคมีในร่างกายผิดเพี้ยน ถ้ารับไปนิดหน่อยอาจทำให้ท้องร่วง ท้องเสียได้ เมื่อสะสมระยะยาวอาจเป็นมะเร็ง
นายอาวีระระบุว่า การพบสารหนูในแม่น้ำกก มีความเป็นไปได้สูงที่อาจเชื่อมโยงการทำเหมืองแร่ทองคำต้นแม่น้ำในประเทศเมียนมา เพราะเเร่ทองคำจะมีสารหนูปะปนอยู่ เมื่อขุดแร่ขึ้นมาก็จะจัดการแร่พวกนี้ออก ในทางเคมีเรียกว่า “เพื่อนแร่” โดยหลักวิทยาศาสตร์สารแร่ทองคำ มีองค์ประกอบสารหนูให้เเร่ทองคำเสถียร
สคพ. 1 ได้แจ้งผลการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่หลีกเลี่ยงการอุปโภค บริโภค หรือการลงสัมผัสน้ำโดยตรงในแม่น้ำกก การนำน้ำมาเพื่อการประปาจะต้องตรวจสอบประสิทธิภาพระบบ และตรวจสอบคุณภาพน้ำประปาอย่างสม่ำเสมอ และให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านสุขภาพอนามัย ด้านคุณภาพน้ำ ด้านอาหาร การประมง ดำเนินการตรวจสอบและหามาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาในระยะยาวต่อไป. 512-สำนักข่าวไทย