กรุงเทพฯ 13 ก.ย. – องคมนตรีติดตามสถานการณ์น้ำที่กรมชลประทาน โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมรับฟังด้วย อธิบดีกรมชลประทานรายงานสาเหตุของการเกิดอุทกภัยรุนแรงในจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ รวมถึงแนวทางบริหารจัดการน้ำเพื่อเร่งคลี่คลายความเดือดร้อนของประชาชน
นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี เป็นประธานติดตามสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 2567 ที่กรมชลประทาน โดยมีนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ร่วมรับฟังด้วย ทั้งนี้นางสาวกรรวี สิทธิชีวภาค อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา รายงานการคาดหมายลักษณะอากาศช่วงปลายฤดูฝน ซึ่งยังคงมีฝนตกชุก ที่ผ่านมายังไม่มีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทย ล่าสุดพายุไต้ฝุ่นยางิซึ่งขึ้นฝั่งที่ประเทศเวียดนามและอ่อนกำลังลงที่ลาว แม้ไม่เคลื่อนตัวมาถึงประเทศไทย แต่หย่อมความกดอากาศต่ำจากพายุที่อ่อนกำลังลงทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น โดยฝนตกหนักบางพื้นที่ โดยเฉพาะในภาคเหนือตอนบนที่จังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ ส่วนทิศทางของพายุเบบินคาจะไม่เข้าสู่ประเทศไทย กรมอุตุนิยมวิทยายังคงเฝ้าระวังพายุหมุนเขตร้อนที่อาจก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลจีนใต้ ซึ่งหากเกิดพายุหมุนเขตร้อนที่จะเข้าสู่ประเทศไทยในครึ่งหลังของเดือนกันยายนจะมีทิศทางการเคลื่อนผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อีกทั้งในเดือตุลาคม พฤศจิกายน และธันวาคม ยังมีโอกาสที่พายุจะเคลื่อนตัวเข้ามา แต่ทิศทางการเคลื่อนตัวจะอยู่ต่ำลงไป ดังนั้นจึงจะเฝ้าระวังการก่อตัวของพายุและสภาพอากาศในฤดูฝนอย่างต่อเนื่องเพื่อแจ้งเตือนล่วงหน้า ภาพรวมปริมาณฝนทั้งประเทศตั้งแต่ต้นปี 2567 ถึงปัจจุบันปริมาณฝนยังต่ำกว่าค่าปกติ 4% ฤดูฝนเริ่มต้นในเดือนพฤษภาคตามปกติ แต่ฝนตกสะสมในเดือนสิงหาคมเป็นต้นมา ครึ่งหลังของเดือนกันยายนยังต้องเฝ้าระวังฝนตกหนักบางพื้นที่ ส่วนปรากฏเอนโซ ปัจจุบันอยู่ในสภาวะปกติ (Neutral) ต่อเนื่องไปอีก 1 - 2 เดือน จากนั้นจึงจะเข้าสู่สภาวะลานีญา ฝนที่ตกขณะนี้มาจากร่องมรสุมที่พาดผ่าน มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และหย่อมความกดอากาศต่ำ
นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน รายงานสาเหตุของการเกิดอุทกภัยในจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ ว่า เกิดจากอิทธิพลของพายุยางิ ซึ่งแม้อ่อนกำลังลงในประเทศลาว แต่หย่อมความกดอากาศต่ำยังทำให้ฝนตกหนักถึงหนักมาก โดยในจังหวัดเชียงรายนั้น วัดปริมาณฝนสะสม 3 วัน ระหว่างวันที่ 9 -11 กันยายน 2567 ที่สถานีวัดน้ำฝนอ้ำเภอแม่สาย 254.4 มิลลิเมตร อำเมือง วัดได้ 155.5 มิลลิเมตร อำเภอแม่จัน วัดได้ 153.5 มิลลิเมตร ทำให้ลำน้ำแม่สาย แม่กก และแม่จัน ล้นตลิ่ง ส่วนที่อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ช่วงแม่น้ำฝางล้นตลิ่งเนื่องจากระดับน้ำแม่น้ำกกสูงจึงเอ่อท้น
ปัจจุบันจังหวัดเชียงรายฝนหยุดตก ปริมาณน้ำในลำน้ำแม่สาย แม่จัน และกก แนวโน้มทรงตัว พื้นที่ประสบอุทกภัย 10 ตำบล 6 อำเภอ เนื้อที่ 1,200 ไร่ ส่งผลกระทบต่อ 613 ครัวเรือน ส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ในเขตเทศบาลตำบลแม่อายกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้วและมีน้ำขังในบ้านเรือนประชาชนบางส่วน โดยอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนกำลังฉีดล้างทำความสะอาด ถนน และบ้านเรือน ลำน้ำแม่ใจและแม่มาวมีแนวโน้มลดลง สามารถระบายลงสู่ลำน้ำฝางได้เร็วขึ้น ถนนสายหลักสามารถสัญจรได้ เว้นถนนซอยในชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำ ริมลำน้ำยังมีน้ำท่วมขัง ความสูงประมาณ 20 – 30 เซนติเมตร แต่แม่น้ำฝางช่วงปลายยังล้นตลิ่ง
ในการช่วยหลือนั้น โครงการชลประทานเชียงรายได้เร่งระบายน้ำสายเข้าสู่คลองระบายต่าง ๆ ลงสู่ลำน้ำน้ำมะ ลำน้ำรวก และแม่น้ำโขง พร้อมแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบ รวมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างใกล้ชิด พร้อมกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำลงลำน้ำเดิม และได้เตรียมเครื่องจักรเครื่องมือรองรับสถานการณ์ เช่นเดียวกับที่จังหวัดเชียงใหม่ที่สนับสนุนเครื่องสูบน้ำ รถไฮดรอลิค รถบรรทุกน้ำ และถุงยังชีพเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
สำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยามีพื้นที่ได้รับผลกระทบท้ายเขื่อนเจ้าพระยาจากการระบายน้ำเกินกว่า 700 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะทำให้มีน้ำเอ่อท้นในพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำในจังหวัดอ่างทองและพระนครศรีอยุธยา โดยวันนี้ระบายที่ 1,248 ลบ.ม./วินาที ซึ่งลดลงจากเมื่อวานซึ่งระบายที่ 1,399 ลบ.ม./วินาที โดยปรับลงให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำที่ไหลลงมาจากตอนบนและลดผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายน้ำ แต่ยังคงติดตามสถานการณ์ฝนที่จะเพิ่มขึ้นจากร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลาง ซึ่งได้วางแผนบริหารจัดการด้วยการเร่งระบายน้ำลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างออกสู่ทะเลเพื่อรองรับฝนที่จะตกเพิ่มขึ้นในพื้นที่ ประกอบกับระหว่างวันที่ 15-20 กันยายน 2567 จะมีภาวะน้ำทะเลหนุนสูง ขณะนี้ใช้สถานีสูบน้ำฝั่งตะวันออกของลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างเร่งพร่องน้ำที่ระบายจากกรุงเทพมหานครออกสู่ทะเลเพื่อเพิ่มพื้นที่รองรับปริมาณน้ำจากฝนที่จะตกลงมาตั้งแต่วันที่ 13 – 22 กันยายนนี้
ส่วนแนวทางการบริหารจัดการน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งกรมอุตุฯ คาดการณ์ว่า จะมีฝนตกเพิ่มขึ้น ได้เร่งระบายน้ำจากแม่น้ำชีให้ไหลลงแม่น้ำน้ำมูลออกสู่แม่น้ำโขงโดยเร็วด้วยการควบคุมบานระบายของเชื่อนในแม่น้ำชีทุกแห่ง ทั้งนี้ จะต้องควบคุมไม่ให้ระดับน้ำลดลงอย่างรวดเร็วเป็นการป้องกันไม่ให้ตลิ่งทรุดและให้มีระดับน้ำที่แพสูบน้ำต่างๆ ของท้องถิ่นสามารถลอยน้ำอยู่ได้ ตลอดจนเฝ้าระวังและป้องกันพื้นที่น้ำท่วมชุมชนในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี เทศบาลเมืองวารินชำราบ และอำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ด้วยการวางแผนเสริมกำแพงปิดช่องว่างที่ระดับ +113.50 ม.รทก. จากความจุลำน้ำเดิม 2,300 ลบ.ม./วินาที จะเพิ่มเป็น 3,200 ลบ.ม./วินาที โดยเพิ่มความจุลำน้ำขึ้นอีก 39% นอกจากนี้พร่องน้ำที่เขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนาให้มากที่สุด แขวนบานที่เขื่อนปากมูลเพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่
สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวม 52,308 ล้าน ลบ.ม. ของความจุเก็บกัก คิดเป็น 65% แต่เร่งระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมากเพื่อให้มีพื้นที่รองรับน้ำจากฝนที่จะตกลงมาใหม่. -512 – สำนักข่าวไทย