กรุงเทพฯ 15 ส.ค. – ไทยติดตามเรือขนย้าย “ฝุ่นเหล็ก” หรือ “ฝุ่นแดง” ของเสียจากอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษเหล็กจากประเทศแอลเบเนีย ตามที่ได้แจ้งว่า ปลายทางคือ ประเทศไทย โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมใช้ “อนุสัญญาบาเซลฯ” สกัดกั้นและจะไม่ยินยอมให้นำเข้าเด็ดขาด
อนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและการกำจัด (Basel Convention on the Control of Transboundary Movements of Hazardous Wastes and their Disposal) หรืออนุสัญญาบาเซลฯ ก่อเกิดขึ้นจาก โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (The United Nations Environment Program: UNEP) ร่วมกับผู้แทนจากประเทศต่างๆ จัดประชุมนานาชาติขึ้นในเดือนมีนาคม พ.ศ.2532 ณ นครบาเซล สมาพันธรัฐสวิส โดยกำหนดข้อตกลงระหว่างประเทศในการควบคุมการนำเข้า การส่งออกการนำผ่านการจัดการของเสียอันตรายให้มีความปลอดภัย ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อม และการป้องกันการขนส่งที่ผิดกฎหมาย
ปัจจุบันมีประเทศสมาชิกเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ 191 ประเทศ ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเป็นภาคีอนุสัญญาบาเซลฯ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2540 และมีผลบังคับใช้กับประเทศไทยตั้งแต่ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2541
วัตถุประสงค์ของอนุสัญญาบาเซลฯ ได้แก่
- ลดการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายให้เหลือน้อยที่สุด โดยการจัดการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
- บำบัดและกำจัดของเสียอันตรายใกล้กับแหล่งกำเนิดมากเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยการจัดการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
- ลดการก่อกำเนิดของเสียอันตรายทั้งในเชิงปริมาณและความอันตราย
สำหรับพันธกรณีที่ประเทศไทยต้องดำเนินการตามอนุสัญญาบาเซลฯ ประกอบด้วย
-ภาคีซึ่งใช้สิทธิของตนในการห้ามการนำเข้าของเสียอันตรายหรือของเสียอื่นเพื่อการกำจัด ต้องแจ้งภาคีอื่นให้ทราบ
-ภาคีต้องห้ามหรือต้องไม่อนุญาตให้มีการส่งออกของเสียอันตรายและของเสียอื่นไปยังภาคีซึ่งได้ห้ามการนำเข้าของเสียดังกล่าว หรือหากรัฐผู้นำเข้าไม่ยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรต่อการนำเข้านั้นเป็นการเฉพาะ
-ภาคีต้องเป็นฝ่ายดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายหรือการจัดการของเสียอันตรายด้วยวิธีการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
-ภาคีต้องไม่อนุญาตให้มีการส่งออกหรือนำเข้าของเสียอันตรายจากประเทศที่มิได้เป็นภาคีสมาชิก
-ภาคีจะไม่อนุญาตให้มีการส่งออกหรือเคลื่อนย้ายของเสียอันตรายหรือของเสียอื่นไปทิ้งหรือกำจัดในพื้นที่ใต้เส้นละติจูด 60 องศาใต้ ไม่ว่าของเสียดังกล่าวจะมีการเคลื่อนย้ายข้ามแดนหรือไม่
-ภาคีแต่ละฝ่ายต้องห้ามบุคคลขนส่ง หรือ กำจัดของเสียอันตราย หรือ ของเสียอื่น เว้นแต่บุคคลดังกล่าวจะได้รับมอบอำนาจหรือได้รับอนุญาตให้ปฏิบัติการดังกล่าวนั้น กำหนดให้ของเสียอื่นที่มีการเคลื่อนย้ายข้ามแดนได้รับการบรรจุหีบห่อติดฉลาก และขนส่งโดยสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ และมาตรฐานระหว่างประเทศที่ได้รับการยอมรับและรับรอง กำหนดให้จัดทำเอกสารการเคลื่อนย้ายแนบไปกับของเสียอันตรายและของเสียอื่นตั้งแต่จุดที่เริ่มต้นเคลื่อนย้ายข้ามแดนจนถึงจุดที่มีการกำจัด
-ภาคีกำหนดให้ของเสียอันตรายหรือของเสียอื่นซึ่งถูกส่งออกไป ได้รับการจัดการโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในรัฐผู้นำเข้าหรือที่อื่นใด
-ภาคีต้องดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพื่อประกันว่าการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและของเสียอื่นจะได้รับอนุญาตเฉพาะเมื่อรัฐผู้ส่งออกไม่มีความสามารถในการกำจัดของเสียอันตรายอย่างเหมาะสม ของเสียอันตรายที่เป็นปัญหาต้องการใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมการนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ในรัฐผู้นำเข้า
คณะกรรมการอนุสัญญาบาเซลฯ ของประเทศไทยมีการจัดตั้งกลไกการปฏิบัติงานตามอนุสัญญาบาเซลฯ โดยได้จัดตั้งคณะกรรมการวัตถุอันตรายเป็นคณะกรรมการภายใต้พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 มีอำนาจหน้าที่ให้ความเห็น และคำแนะนำแก่หน่วยงานของรัฐที่ดำเนินการเกี่ยวกับวัตถุอันตรายโดยมี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานกรรมการ หน่วยงานผู้มีอำนาจตามอนุสัญญาบาเซลคือ กรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งทำหน้าที่ในการควบคุมและกำกับดูแลการเคลื่อนย้ายของเสียอันตรายข้ามแดน. -512 – สำนักข่าวไทย