กรุงเทพฯ 1 ส.ค. – อธิบดีกรมประมง ยืนยัน ปลาหมอคางดำและปลานิลไม่ผสมข้ามสายพันธุ์กัน โดยเคยทดลองเลี้ยงปลานิล ปลาหมอคางดำ และปลาหมอเทศรวมกัน เพื่อศึกษาว่า หากอยู่ในแหล่งอาศัยเดียวกันจะสามารถผสมข้ามสายพันธุ์หรือไม่ ซึ่งผลการทดลองปรากฏว่า ไม่มีการผสมข้ามพันธุ์กัน แต่เพื่อความสบายใจของเกษตรกร สั่งเจ้าหน้าที่ไปเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจสอบทางวิชาการที่ห้องปฏิบัติการอนุกรมวิธาน
นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง กล่าวถึงข่าวที่เกษตรกรวังกุ้งคลองด่าน จังหวัดสมุทรปราการ นำผู้สื่อข่าวเข้าไปทอดแหจับปลาในบ่อเลี้ยง โดยเข้าใจว่า มีปลาที่มีลักษณะผสมกันระหว่างปลาหมอคางดำกับปลานิลคือ ลักษณะเหมือนปลานิล แต่ที่คางมีสีดำจึงตั้งข้อสังเกตสงสัยว่าจะมีการกลายพันธุ์เป็น “ปลานิลคางดำ” หรือไม่จึงต้องการให้มีการตรวจสอบ
อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ปลาทั้ง 2 ชนิด เป็นคนละสกุลกันจึงไม่ผสมข้ามสายพันธุ์กันได้ โดยปลานิลหรือ Nile tilapia (Oreochromis niloticus) ส่วนปลาหมอคางดำ หรือ Blackchin tilapia (Sarotherodon melanotheron) เป็นปลาที่อยู่คนละสกุล (genus) ซึ่งลักษณะภายนอกที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนคือ ปลานิลจะมีแก้มและตัวสีคล้ายกัน หางมนและมีลายเส้น ส่วนปลาหมอคางดำ ใต้คางจะมีจุดสีดำ หางเว้า และไม่มีลวดลาย อีกทั้งพฤติกรรมการฟักไข่และดูแลลูกปลาก็มีความแตกต่างกันด้วย โดยในปลานิล ปลาเพศเมียมีพฤติกรรมดูแลไข่และตัวอ่อน ส่วนในปลาหมอคางดำ ปลาเพศผู้มีพฤติกรรมดูแลไข่และตัวอ่อน
ความแตกต่างทางชีววิทยาดังกล่าวทำให้ในธรรมชาติปลาทั้ง 2 ชนิดจะไม่ผสมข้ามพันธุ์ ดังนั้น ความน่าจะเป็นในการเกิดการผสมข้ามสายพันธุ์ในธรรมชาติมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก ที่สำคัญยังไม่พบข้อมูลหลักฐานทางวิชาการที่ระบุการผสมข้ามพันธุ์ในธรรมชาติระหว่างปลาทั้ง 2 ชนิด ประกอบกับเมื่อช่วงเดือนเมษายน 2567 กรมประมงเคยทดลองเลี้ยงปลานิล ปลาหมอคางดำ และปลาหมอเทศรวมกัน เพื่อศึกษาว่าหากอยู่ในแหล่งอาศัยเดียวกันจะสามารถผสมข้ามสายพันธุ์หรือไม่ ซึ่งผลการทดลองปรากฏว่า ไม่มีการผสมข้ามพันธุ์กัน อีกทั้งยังพบปลานิลแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวโดยกัดปลาหมอคางดำด้วย ดังนั้น ความกังวลในเรื่องของการกลายพันธุ์ที่เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์นั้นจึงเป็นไปไม่ได้ ในส่วนภาพเปรียบเทียบรูปร่างที่ปรากฏในข่าวนั้น สามารถแยกชนิดจากลักษณะภายนอกได้อย่างชัดเจน
ทั้งนี้เพื่อความสบายใจของเกษตรกร กรมประมงมอบหมายให้สำนักงานประมงจังหวัดร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดสมุทรปราการ ลงพื้นที่ไปยังบ่อเลี้ยงที่พบปลาดังกล่าวและเก็บตัวอย่างปลาเพื่อนำมาตรวจสอบทางวิชาการที่ห้องปฏิบัติการอนุกรมวิธานเนื่องจากการจะระบุว่า ปลาที่ปรากฎในข่าวเป็นปลาลูกผสมหรือไม่ ต้องตรวจสอบอย่างละเอียดในห้องปฏิบัติการ ทั้งด้านอนุกรมวิธานและทางอณูพันธุศาสตร์ โดยนักวิชาการที่เชี่ยวชาญ. -512-สำนักข่าวไทย