fbpx

ประชุมวางแผนแก้ไขวิกฤติ “ปลาหมอคางดำ” เพิ่มเติมบ่ายนี้

กรุงเทพฯ 16 ก.ค. – อธิบดีกรมประมง เผยจะมีการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการระบาดของ “ปลาหมอคางดำ” ที่ รมช.เกษตรฯ เป็นประธานในช่วงบ่ายวันนี้ เพื่อยกระดับมาตรการ รวมถึงกำหนดแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขในจังหวัดที่พบการระบาด 14 จังหวัด ให้ชัดเจน จากนั้นกระทรวงเกษตรฯ จะเสนอ ครม. เห็นชอบต่อไป


นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ช่วงบ่ายวันนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการระบาดของ “ปลาหมอคางดำ” ซึ่งมีนายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน ทั้งนี้กระทรวงเกษตรฯ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการระบาดของปลาหมอคางดำระดับจังหวัดใน 14 จังหวัดที่พบการระบาดได้แก่ จังหวัดจันทบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และเพชรบุรี โดยคณะกรรมการแต่ละจังหวัดจัดเตรียมมาตรการป้องกันและแก้ไขการระบาด รวมถึงจัดทำแผนปฏิบัติการที่ชัดเจนและจัดทำงบประมาณ โดยคณะกรรมการระดับจังหวัดจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการของกระทรวงเกษตรฯ ในช่วงบ่ายนี้ จากนั้นจะนำเสนอต่อ ครม. พิจารณาตามที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายยกระดับการกำจัดปลาหมอสีคางดำซึ่งเป็นสัตว์น้ำรุกรานต่างถิ่น (Alien Species) ขึ้นเป็นวาระแห่งชาติเนื่องจากเป็นปัญหาเรื้อรังมาถึง 14 ปี

การระบาดของปลาหมอคางดำที่กินเวลายาวนานส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและกระทบต่อเศรษฐกิจของภาคการประมง จึงมีนโยบายให้สำรวจความเสียหายของเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำทุกจังหวัดที่มีการระบาดของปลาหมอสีคางดำเพื่อวางแผนการช่วยเหลือเยียวยา นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบในเชิงความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศแหล่งน้ำจืดและน้ำกร่อยจึงต้องมีการฟื้นฟูแหล่งน้ำและทรัพยากรสัตว์น้ำให้กลับมาสู่สมดุล


สำหรับมาตรการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำของกระทรวงเกษตรฯ ที่มอบหมายให้กรมประมงดำเนินการมี ดังนี้
1) การควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการระบาด
2) การปล่อยปลาผู้ล่า เช่น ปลากะพงขาว ปลาอีกงเพื่อกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ
3) นำปลาหมอคางดำที่กำจัดได้ไปใช้ประโยชน์เช่น ทำอาหารคน อาหารสัตว์
4) สำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติตามพื้นที่กันชนต่างๆ
5) ประชาสัมพันธ์ สร้างความตระหนักรู้ และการมีส่วนร่วมในการกำจัดปลาหมอคางดำให้กับทุกภาคส่วน

นายบัญชา กล่าวว่า กรมประมงกำลังเร่งดำเนินโครงการวิจัยเรื่อง การเหนี่ยวนำชุดโครโมโซม 4n ในปลาหมอคางดำซึ่งเป็นการวิจัยเพื่อควบคุมการแพร่ขยายพันธุ์ของปลาหมอคางดำด้วยหลักการทางพันธุศาสตร์ โดยศึกษาสร้างประชากรปลาหมอคางดำพิเศษที่มีชุดโครโมโซม 4 ชุด (4n) จากนั้นจะปล่อยปลาหมอคางดำพิเศษลงสู่แหล่งน้ำเพื่อให้ไปผสมพันธุ์กับปลาหมอคางดำปกติที่มีชุดโครโมโซม 2 ชุด (2n) ลูกปลาหมอคางดำเกิดมาจะมีชุดโครโมโซม 3 ชุด (3n) มีลักษณะเป็นหมันซึ่งไม่สามารถสืบพันธุ์ต่อได้ คาดว่า จะปล่อยปลาหมอคางดำตัวผู้ที่มีชุดโครโมโซมพิเศษ 4 ชุด (4n) ซึ่งเป็นหมันรุ่นแรกลงสู่แหล่งน้ำได้เดือนธันวาคมนี้ ภายใน 1 ปีกับอีก 3 เดือนจะสามารถปล่อยปลาหมอคางดำที่มีพันธุกรรมหมันลงสู่แหล่งน้ำครอบคลุมทุกพื้นที่ที่มีการระบาดโดยประเมินว่า การควบคุมการเกิดใหม่ของลูกปลาหมอคางดำจะลดลงตามลำดับจนอยู่ในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบต่อแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกรและไม่กระทบต่อระบบนิเวศ

นายบัญชากล่าวว่า ข้อสันนิษฐานถึงที่มาของปลาหมอคางดำซึ่งมีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา ในการเข้ามายังประเทศไทยทำให้เกิดปัญหาเป็นสัตว์น้ำรุกรานต่างถิ่น (Alien Species) มี 2 ทางคือ


  1. การลักลอบนำเข้า
  2. การที่มีภาคเอกชนขออนุญาตนำเข้ามาเพื่อการวิจัยปรับปรุงพันธุ์

ทั้งนี้ภาคเอกชนรายหนึ่งยื่นขออนุญาตนำเข้าปลาหมอคางดำจำนวนหนึ่งในปี 2549 ส่วนเกิดการหลุดรอดออกมาหรือไม่ ไม่แน่ใจเนื่องจากผ่านมา 17 ปีแล้วจึงไม่กล้าปรักปรำ

อธิบดีกรมประมงกล่าวว่า กฎหมายว่าด้วยการประมงในอดีตกับปัจจุบันมีเจตนารมณ์ต่างกัน โดยเมื่อปี 2553 ใช้พ.ร.บ.การประมง พ.ศ. 2490 ในมาตรา 54 กำหนดไว้ว่า ห้ามมิให้ผู้ใดนำสัตว์น้ำเข้าในราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตซึ่งเจตนารมณ์คือ ป้องกันโรคระบาดและสารตกค้างในสัตว์น้ำนำเข้า ยังไม่ได้ของกฎหมายคือเรื่องโรคระบาด และสารตกค้างในสัตว์น้ำที่นำเข้า ยังไม่ได้มีเจตนารมณ์ป้องกันการรุกรานของสัตว์น้ำต่างถิ่น แต่ปัจจุบันใช้พ.ร.ก .การประมง พ.ศ. 2558 ซึ่งให้ความสำคัญต่อการป้องกันสัตว์น้ำต่างถิ่นโดยกำหนดไว้ในมาตรา 65 เพื่อคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกประกาศกระทรวงเรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยง พ.ศ. 2561 ห้ามนำเข้าปลาหมอคางดำ โดยการขอนำเข้า จะมีคณะกรรมการความหลากหลายชีวภาพพิจารณาก่อน

ส่วนที่มีหลายภาคส่วนเรียกร้องให้ผู้นำเข้าปลาหมอคางดำเพื่อวิจัยปรับปรุงพันธุ์ในประเทศไทย ต่อมาเกิดการแพร่ระบาดเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายทางเศรษฐกิจและระบบนิเวศนั้น ร้อยเอกธรรมนัสกล่าวว่า ยังไม่ทราบว่า เป็นเรื่องจริงหรือไม่ หากพูดไปโดยไม่มีหลักฐานยืนยัน จะเกิดความเสียหาย

รายงานจากคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ เพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย ในคณะกรรมาธิการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎรระบุว่า ในปี 2560 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ตรวจสอบเกี่ยวกับการระบาดของปลาหมอคางดำ จากการที่มีผู้ร้องเรียนว่า ได้รับความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในจังหวัดสมุทรสงครามและเพชรบุรี โดยภาคเอกชนยื่นขออนุญาตนำเข้าจากกรมประมงเมื่อปี 2549 เพื่อนำมาปรับปรุงสายพันธุ์ปลานิล ประเทศต้นทางใช้เวลารวบรวมพันธุ์ปลา 3 ปีจึงนำเข้ามาในไทยเมื่อปลายปี 2553 จำนวน 2,000 ตัว จากคำชี้แจงของกรมประมงซึ่งเป็นผู้ถูกร้องระบุว่า ภาคเอกชนแจ้งว่า ระยะเวลาขนส่งที่นานถึง 32 ชั่วโมงจึงทำให้ปลาบางส่วนตาย เหลือเพียง 600 ตัวซึ่งมีอาการไม่ดี จากนั้นนำปลาที่เหลือไปปล่อยในบ่อระบบปิดที่เตรียมไว้ ต่อมาปรากฏว่า ในสัปดาห์ที่ 1 เหลือปลาที่รอดเพียง 200 ตัว แล้วทยอยตายไปเกือบทั้งหมดภายใน 3 สัปดาห์ ผู้วิจัยเห็นว่า ปลาเริ่มทยอยตายจึงได้ส่งตัวอย่างปลาไปให้กรมประมงด้วยวิธีการดอง 50 ตัว จากนั้นผู้วิจัยจึงตัดสินใจทำลายปลาที่เหลือโดยใช้สารคลอรีนเข้มข้นและฝังกลบซากปลา โรยด้วยปูนขาวเพราะพิจารณาแล้วเห็นว่า การปรับปรุงสายพันธุ์น่าจะไม่ประสบความสำเร็จ แล้วแจ้งให้กรมประมงทราบด้วยวาจา โดยไม่ได้ทำรายงานอย่างเป็นทางการ

ในห้วงเวลานั้นกรมประมงชี้แจงต่อกสม. ว่า สาเหตุการระบาดของปลาหมอคางดำอาจเกิดขึ้นได้ทั้งจากการลักลอบนำเข้าหรือการทำผิดเงื่อนไขอนุญาตนำเข้า โดยการระบาดของปลาชนิดนี้เกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว จึงไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า แหล่งที่มาหรือสาเหตุการระบาดคืออะไร

ขณะนี้คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำยังคงพยายามหาสาเหตุของการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำเพื่อหาผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อาชีพของเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำและผลกระทบต่อระบบนิเวศ โดยจะเชิญภาคเอกชนที่ขออนุญาตนำเข้ามาชี้แจง รวมถึงนำตัวอย่างปลาหมอคางดำที่ภาคเอกชนดองแล้วส่งมอบให้กรมประมง มาเปรียบเทียบโครงสร้างทางพันธุกรรมกับประชากรปลาหมอสีที่ระบาดในหลายจังหวัดว่า มีแหล่งที่มาร่วมกันหรือไม่

อธิบดีกรมประมงคนปัจจุบันระบุว่า จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ ไม่ปรากฏว่า มีการเก็บรักษาปลาหมอคางดำดองไว้ในที่ใด แต่ยืนยันว่า จะให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วน หากมีวิธีการตรวจสอบใดๆ ที่เป็นไปได้ เพื่อให้เกิดความกระจ่าง

ทั้งนี้สอดคล้องกับที่ร้อยเอกธรรมนัสกล่าวถึงข้อเรียกหลายภาคส่วนเรียกร้องให้ผู้นำเข้าปลาหมอคางดำเพื่อวิจัยปรับปรุงพันธุ์ในประเทศไทย ต่อมาพบการแพร่ระบาดเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายทางเศรษฐกิจและระบบนิเวศซึ่งร้อยเอกธรรมนัสกล่าวว่า ยังไม่ทราบว่า เป็นเรื่องจริงหรือไม่ หากพูดไปโดยไม่มีหลักฐานยืนยัน จะเกิดความเสียหาย

ปลาหมอสีคางดำ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sarotherodon melanotheron Ruppell, 1852 ชื่อสามัญ Blackchin tilapia ชื่อไทย ปลาหมอสีคางดำหรือปลาหมอคางดำ อยู่ในวงศ์ปลาหมอสี (Family Cichlidae) มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกาพบตั้งแต่ประเทศมอริเตอเนียไปจนถึงประเทศคาเมอรูน มีรายงานการนำเข้าประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึงอีกหลายประเทศในทวีปเอเซียและทวีปยุโรป

ปลาชนิดนี้มีลักษณะพิเศษคือ ปรับตัวให้ทนต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมได้เป็นอย่างดีซึ่งเป็นข้อได้เปรียบในการแย่งชิงแหล่งอยู่อาศัยกับปลาท้องถิ่น มีพฤติกรรมการกินอาหารได้ในวงกว้าง รวมถึงมีอัตราการแพร่พันธุ์ที่รวดเร็วมาก เมื่อปลาหมอคางดำหลุดรอดลงสู่บ่อเลี้ยงสัตว์น้ำหรือแหล่งน้ำใดก็ตาม ส่งผลทำให้ปลาชนิดอื่นๆ ลดจำนวนลงและกลายเป็นชนิดพันธุ์หลักในแหล่งน้ำนั้นแทน

ลักษณะทางชีววิทยาของปลาหมอคางดำ ขนาดที่พบทั่วไปยาวประมาณ 17.5 เซนติเมตร มีขนาดความยาวสูงสุด 28 เซนติเมตร ขนาดแรกเริ่มสืบพันธุ์ เป็นปลาที่ทนต่อความเค็ม สามารถอาศัยในพื้นที่น้ำจืดได้ทั้งในทะเลสาบ แม่น้ำ และลำน้ำสาขา ชอบหากินบริเวณพื้นท้องน้ำในธรรมชาติ กินพืช แพลงก์ตอนพืช แพลงก์ตอนสัตว์ กุ้ง ปู หอย ปลา และไข่ปลาเป็นอาหาร สามารถสืบพันธุ์ได้ทั้งในน้ำเค็มและน้ำจืด พ่อแม่ปลามีการผสมพันธุ์บริเวณน้าตื้นใกล้ชายฝั่ง เป็นปลาประเภทที่พ่อแม่ปลามีการดูแลลูก(parental care) จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลต่ออัตรารอดตายที่สูง ระยะเวลาฟักไข่เฉลี่ย 14 วัน สามารถขยายจำนวนประชากรได้เป็นสองเท่าภายในระยะเวลา 1.4 – 4.4 ปี

ปลาหมอคางดำเป็นปลาที่ไม่มีพิษและบริโภคได้จึงส่งเสริมให้เกษตรกรนำปลาหมอคางดำที่กำจัดจากแหล่งน้ำธรรมชาติมาใช้ประโยชน์เช่น แปรรูปเป็นปลาแดดเดียว ปลาป่น หมักทำน้ำปลา หมักทำปุ๋ยชีวภาพ และใช้เป็นปลาเหยื่อหรืออาหารสำหรับเลี้ยงสัตว์น้ำ ปัจจุบันมีการแปรรูปไปแล้วกว่า 500 ตันทั่วประเทศ โดยกรมประมงและหน่วยงานในพื้นที่จะเร่งประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลที่ถูกต้องในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์และหาช่องทางการขายและกระจายสินค้าเพิ่มขึ้นต่อไปในอนาคตเช่น ร้านสะดวกซื้อและ Modern Trade เพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวประมงทั่วประเทศซึ่งเป็นการพลิกวิกฤติเป็นโอกาส

ล่าสุดนายเผดิม รอดอินทร์ ประมงจังหวัดสมุทรสาครกล่าวว่า สำนักงานประมงจังหวัดได้เจรจาให้แพปลาในพื้นที่เป็นจุดรวบรวมรับซื้อปลาหมอคางดำเพื่อกำจัดออกจากแหล่งน้ำตามโครงการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ ที่ส่งผลต่อระบบนิเวศนในแหล่งน้ำของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกรมประมง โดยประมงสมุทรสาครประกาศราคารับซื้อปลาหมอคางดำขั้นต่ำ ณ จุดรับซื้อหรือหน้าแพผู้รวบรวม เริ่มต้นที่ราคา 8 บาทต่อกิโลกรัม แล้วประสานให้ผู้รวบรวมส่งขายโรงงานปลาป่นในพื้นที่เพื่อกำจัด ราคา 10 บาท

สำหรับแพและผู้รวบรวมเข้าร่วมโครงการมี 5 ราย ดังนี้

  1. แพธนูทอง ม.2( ริมคลองพิทยาลงกรณ์) ต. บางหญ้าแพรก อ. เมืองสมุทรสาคร จ. สมุทรสาคร โทร 0804646479
  2. แพนายวิชาญ เหล็กดี ม.2 (ริมคลองพิทยาลงกรณ์) ต. บางหญ้าแพรก อ. เมืองสมุทรสาคร จ. สมุทรสาคร โทร 0877407525
  3. แพนางจารุจันทร์ จารวิไพบูลย์ (แพมิตร) ม.2 (ริมคลองพิทยาลงกรณ์) ต. บางหญ้าแพรก อ. เมืองสมุทรสาคร จ. สมุทรสาคร โทร 0873647298
  4. นายชัยพร กรุดทอง (บอย) 72 หมู่ 6 ต. ยกกระบัตร อ. บ้านแพ้ว จ. สมุทรสาคร (คลองเจ๊ก) โทรศัพท์ 06 2658 5323
  5. นายเฉลิมพล เกิดปั้น หมู่ 5 ต. ยกกระบัตร อ. บ้านแพ้ว จ. สมุทรสาคร ชื่อโทรศัพท์ 087-171-4414

พร้อมกันนี้ยังประกาศเชิญชวนแพอื่นๆ หรือประชาชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการนี้สามารถติดต่อแจ้งความประสงค์ได้ที่สำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสาคร ถนนเดิมบาง อำเภอเมือสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร. 512 – สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

แก๊งคอลเซ็นเตอร์ล็อกเป้านักศึกษาเชียงใหม่

นักศึกษามหาวิทยาลัยที่เชียงใหม่ กำลังตกเป็นเป้าหมายของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยใช้ข้อมูลส่วนตัวหลอกลวงและข่มขู่ให้สร้างเรื่องหลอกผู้ปกครอง ทั้งทุนการศึกษาและเรียกค่าไถ่ บางรายสูญเงินถึง 4 ล้านบาท

อาลัย “ชรินทร์ นันทนาคร” ศิลปินแห่งชาติ สิริอายุ 91 ปี

วงการบันเทิงสุดเศร้า สูญเสีย “ชรินทร์ นันทนาคร” นักร้องนักแสดงดัง ศิลปินแห่งชาติ เจ้าของผลงานเพลง “หยาดเพชร” จากไปด้วยโรคชรา สิริอายุ 91 ปี

ข่าวแนะนำ

เครื่องบินเล็กตกกลางป่าชายเลน จ.ฉะเชิงเทรา เร่งค้นหา 9 ชีวิต

เครื่องบินเล็กนักท่องเที่ยวตกบริเวณป่าชายเลน อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา เจ้าหน้าที่เร่งค้นหาผู้สูญหาย คาดเป็นชาวต่างชาติ 7 คน และนักบิน 2 คน ยังไม่ทราบชะตากรรม

น้ำท่วมชุมชน-เขตเศรษฐกิจเมืองน่าน เพิ่มสูงขึ้น

มวลน้ำที่ท่วมบ้านเรือนหลายร้อยหลังในชุมชนและเขตเศรษฐกิจเมืองน่าน ยังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ คาดว่าท่วมหนักสุดในรอบหลายสิบปี ด้านนายกเทศมนตรีเมืองน่าน บอกครั้งนี้หนักสุดเป็นประวัติการณ์