กรุงเทพฯ 22 มี.ค. – อธิบดีกรมอุทยานฯ เผย จับกุมขบวนการลักลอบทำไม้กฤษณาข้ามชาติในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ได้ผู้ต้องหาเป็นชายชาวเวียดนาม 6 คน พร้อมไม้กฤษณา 173 กิโลกรัม พบความเชื่อมโยงกับการกระทำผิดหลายกรณีก่อนหน้านี้ เตรียมเสนออัยการสูงสุดรับเป็นคดีนอกราชอาณาจักร ยกระดับการปราบปรามและทลายขบวนการองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติซึ่งเข้ามาทำลายทรัพยากรธรรมชาติในประเทศไทย
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชกล่าวว่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าผาผึ้ง สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 (นครราชสีมา) ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรจังหวัดชัยภูมิ จับกุมกลุ่มขบวนการต่างชาติลักลอบทำไม้กฤษณาในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิได้เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2566 เวลาประมาณ 21.30 น.
ผู้กระทำผิดที่ถูกจับกุมเป็นชายชาวเวียดนาม 6 คน ประกอบด้วย
- นาย แดง เฮียบ (Dang Hiep)
- นาย ทราน เคา กวง (Tran Cao Cuong)
- นาย เหงียน วัน บินห์ (Nguyen Van Binh)
- นาย ฮวง วัน บา (Hoang Van Ba)
- นาย ฮวง วัน อัน (Hoang Van An)
- นาย ฮวง ชวน ฟาน (Hoang Xuan Van)
พร้อมของกลางเป็นชิ้นไม้กฤษณา 173 กิโลกรัมจึงได้แจ้งความกลุ่มคนดังกล่าวในฐานความผิดทั้งสิ้น 9 ข้อหา ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 และพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507
ทั้งนี้ทราบต่อมาว่า ผู้ต้องหาเกือบทั้งหมดมาจากจังหวัดก๋วงบินห์ (Quang Binh) ประเทศเวียดนาม มีเพียงนาย แตง เฮียบที่มาจากจังหวัดฮาติน (Ha Tinh)
สำหรับการจับกุมครั้งนี้เป็นการขยายผลจากการจับกุมชาวเวียดนาม 4 คนที่เข้ามาลักลอบหาไม้กฤษณาในพื้นที่เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 โดยเจ้าหน้าที่ชุดลาดตระเวนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวลาดตระเวนพบ แต่เมื่อเจ้าหน้าที่แสดงตัวเข้าเข้าตรวจค้น กลุ่มชายดังกล่าวกลับได้หลบหนีไป ในเกิดเหตุได้พบชิ้นไม้กฤษณา 64.8 กิโลกรัม และหนังสือเดินทางของชาวเวียดนามจากจังหวัดก๋วงบินห์ 1 เล่ม
ต่อมาเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2565 เจ้าหน้าที่ชุดลาดตระเวนได้ลาดตระเวนในพื้นที่จนพบแคมป์ที่พักและร่องรอยการทำไม้กฤษณา จึงได้ดักซุ่มรอจนพบกับกลุ่มชาย 4 คนและสามารถควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ได้ 1 คน พร้อมชิ้นไม้กฤษณา 20 กิโลกรัม ส่วนอีก 3 คนหลบหนีไปได้ เมื่อตรวจสอบหนังสือเดินทางพบว่า เป็นชาวเวียดนามจากจังหวัดก๋วงบินห์
นายอรรถพลกล่าวว่า การสืบสวนขยายผลเพื่อจับกุมขบวนการลักลอบทำไม้กฤษณา เป็นการปฏิบัติงานร่วมระหว่างสำนักงานต่อต้านการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่ผิดกฎหมายของประเทศไทย กองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา ชุดปฏิบัติการปราบปรามการกระทำความผิดด้านสัตว์ป่าและพืชป่า (ชุดเหยี่ยวดง) หน่วยเฉพาะกิจปฏิบัติการพิเศษผู้พิทักษ์อุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่า (หน่วยเฉพาะกิจพญาเสือ) โดยการสนับสนุนจาก กรมบริหารทรัพยากรสัตว์น้ำและสัตว์ป่า สหรัฐอเมริกา (United States Fish and Wildlife Senvice หรือ FWS) สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว ซึ่งยังคงเร่งติดตามผู้กระทำผิดที่หลบหนีอยู่
ทั้งนี้ ชุดปฏิบัติการร่วมได้รวบรวมข่าวสารจากแหล่งข่าวต่างๆ หลายมิติตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 จนกระทั่งนำมาสู่การพิสูจน์ทราบกลุ่มกระทำความผิดลักลอบตัดไม้กฤษณาในพื้นที่ จึงได้เปิดปฏิบัติการค้นหา ลาดตระเวนกดดัน และสกัดกั้นทั้งในพื้นที่และบริเวณกล้เคียงโดยรอบ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 พบชายต้องสงสัย 1 คน สะพายเป้ถุงปุ๋ยท่าทางมีพิรุธ จึงได้เข้าควบคุมตัวและพบเป็นชาวเวียดนามซึ่งมีอุปกรณ์ที่ใช้ในการหาไม้กฤษณา
จนกระทั่งวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา ชุดปฏิบัติการได้ติดตามรถยนต์ต้องสงสัยจนสามารถจับกุมขบวนการลักลอบทำไม้พร้อมของกลางได้ 6 คนดังกล่าว โดยผู้ต้องหา 1 รายในกลุ่มนี้ยังเป็นผู้ต้องหาในคดีเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 ที่หลบหนีการเข้าควบคุมตัวคราวก่อนด้วย
เมื่อวิเคราะห์และเชื่อมโยงแผนประทุษกรรมพบว่า กลุ่มผู้ต้องหาดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้กระทำความผิดรายอื่นในประเทศไทยในอดีตที่ผ่านมาด้วย ทั้งคดีการล่าและค้าสัตว์ป่าหายาก การทำไม้กฤษณาและไม้มีค่าอื่นๆ โดยชาวต่างชาติ ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลของฝ่ายพัฒนาฐานข้อมูลอาชญากรรมสัตว์ป่า สำนักงานต่อต้านการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่ผิดกฎหมายของประเทศไทย พบว่าตั้งปี 2552 ถึงปัจจุบันมีชาวเวียดนามจาก จังหวัดก๋วงบินห์ เข้ามาทำไม้กฤษณา บางส่วนเข้ามาล่าและค้าเสือโคร่งในประเทศไทยถึง 41 ราย และเข้าไปทำไม้กฤษณาและล่าและค้าเสือโคร่งในประเทศมาเลเซียถึง 23 รายด้วยกัน
นายอรรถพลกล่าวว่า เตรียมทำหนังสือเสนอไปยังสำนักการอัยการสูงสุด เพื่อรับพิจารณาเป็นคดีนอกราชอาณาจักร ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 เพื่อยกระดับในการสืบสวน สอบสวน เพื่อหาตัวผู้กระทำผิดที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมมาดำเนินการตามกฎหมายและทลายองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติซึ่งเข้ามาทำลายทรัพยากรธรรมชาติและความมั่นคงทางระบบนิเวศในประเทศไทย
นายอรรถพลกล่าวว่า ปัจจุบันแม้จะมีการปลูกสวนบำไม้กฤษณาเพื่อเป็นการใช้ประโยชน์ในการนำมากลั่นเป็นหัวน้ำหอมแล้ว แต่การลักลอบหาไม้กฤษณาถือว่า เป็นภัยคุกคามรุนแรงในพื้นที่อนุรักษ์ทั่วประเทศ เพราะการตัดโค่นหาไม้กฤษณาผู้กระทำผิดจะต้องโค่นไม้กฤษณาลงทั้งต้นเพื่อหาเฉพาะขึ้นไม้ที่มีสารกฤษณาหรือสารหอมระเหยเท่านั้น แต่ต้องแลกกับการตัดโค่นไม้ลงทั้งต้น จึงเป็นการทำลายทรัพยากรป่าไม้โดยตรง อีกทั้งการเข้าไปของผู้กระทำผิดก็ยังมีการบุกรุก แผ้วถาง ตัดไม้ หรือล่าสัตว์อื่นๆ ด้วย ซึ่งทำเกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศในพื้นที่ หากสามารถนำออกมาจำหน่ายให้แก่ผู้รับซื้อได้ก็ยากต่อการตรวจสอบ ทำให้เกิดเป็นเครือข่ายขบวนการในการลักลอบกระทำผิด ดังนั้นกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลรักษาไว้ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ ให้ยังประโยชน์แก่ชนชาวไทยทุกคน จึงให้ความสำคัญในการปราบปรามเพื่อหยุดยั้งการกระทำผิดดังกล่าว ตลอดจนเป็นการอนุรักษ์ไม้กฤษณาในป่าธรรมชาติเพื่อเป็นแหล่งสายพันธุ์และแหล่งแม่ไม้ที่จะสามารถพัฒนาไม้เศรษฐกิจในอนาคต
สำหรับฐานความผิดขบวนการลักลอบทำไม้กฤษณา มีดังนี้
– ความผิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562
- 1. ฐานร่วมกันเข้าไปในขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 53 และมาตรา 96 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- 2. ฐานร่วมกันทำด้วยประการใดให้เสื่อมสภาพหรือเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมชาติเดิม ตามมาตรา 55 (2) และมาตรา 99 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปีหรือปรับตั้งแต่แสนบาทถึงสองล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- 3. ฐานร่วมกันกับพวก เก็บหานำออกไป กระทำด้วยประการใดๆ ที่เป็นอันตราย หรือ ทำให้เสื่อมสภาพซึ่งไม้ ดิน หิน กรวด ทราย แร่ ปิโตรเลียม หรือทรัพยากรธรรมชาติอื่น หรือกระทำการอื่นใดอันส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ หรือความหลากหลายทางชีวภาพ ตามมาตรา 55 (5) และมาตรา 100 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- 4. ฐานร่วมกันกับพวก กระทำการหรืองดเว้นกระทำการไม่ว่าจงใจหรือประมาทเลินเล่อโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ผู้นั้นต้องชดใช้ค่าเสียหายตามมูลค่าของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหายไปนั้น ตามมาตรา 87
– ความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484
- 5. ฐานร่วมกันกับพวกเก็บหาของป่าหวงห้าม หรือทำอันตรายด้วยประการใดๆ แก่ของป่าหวงห้ามในป่า โดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 29 และมาตรา 71 ทวิ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- 6. ฐานร่วมกันกับพวกค้าของป่าหวงห้ามหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งของป่าหวงห้ามเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษาโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 29 ทวิ และมาตรา 71 ทวิ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- 7. ฐานร่วมกันกระทำตัวยประการใด (อันเป็นการทำลายป่า ตามมาตรา 54 และมาตรา 72 ตรี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท
– ความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507
- 8. ฐานร่วมกันเก็บหาของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 14 และมาตรา 31 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเตือนถึงห้าปีและปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงห้าหมื่นบาท
- 9. ผู้ใดกระทำหรือละเว้นกระทำด้วยประการใด โดยมิชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการทำลายหรือเป็นเหตุให้เกิดการทำลาย หรือทำให้สูญหายหรือเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ผู้นั้นมีหน้าที่รับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากรธรมชาติที่ถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหายไปนั้น ตามมาตรา 26/4.-สำนักข่าวไทย