กรุงเทพฯ 2 ก.พ. – ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ เผยปริมาณ PM2.5 เกินค่ามาตรฐานถึง 52 จังหวัด กรมควบคุมมลพิษยกระดับมาตรการเพื่อลดแหล่งกำเนิด PM2.5 และป้องกันผลกระทบต่อสุขอนามัยของประชาชน
นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และผู้อำนวยการศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) กล่าวว่า ศกพ. รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศประจำวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 ณ 07:00 น. พบปริมาณ PM2.5 ในประเทศเกินค่ามาตรฐานใน 52 จังหวัดได้แก่ จ.ปทุมธานี กรุงเทพฯ จ.นนทบุรี จ.นครปฐม จ.สมุทรสาคร จ.สมุทรปราการ จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ จ.น่าน จ.แม่ฮ่องสอน จ.พะเยา จ.ลำปาง จ.แพร่ จ.ลำพูน จ.อุตรดิตถ์ จ.สุโขทัย จ.ตาก จ.กำแพงเพชร จ.พิจิตร จ.เพชรบูรณ์ จ.นครสวรรค์ จ.อุทัยธานี จ.สิงห์บุรี จ.ลพบุรี จ.สระบุรี จ.อ่างทอง จ.สุพรรณบุรี จ.พระนครศรีอยุธยา จ.กาญจนบุรี จ.ราชบุรี จ.สมุทรสงคราม จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.สระแก้ว จ.ฉะเชิงเทรา จ.ชลบุรี จ.ระยอง จ.บึงกาฬ จ.หนองคาย จ.เลย จ.อุดรธานี จ.นครพนม จ.หนองบัวลำภู จ.สกลนคร จ.มุกดาหาร จ.ขอนแก่น จ.กาฬสินธุ์ จ.ร้อยเอ็ด จ.ชัยภูมิ จ.อุบลราชธานี จ.ศรีสะเกษ จ.นครราชสีมาและ จ. บุรีรัมย์
สำหรับผลตรวจวัดตามรายภาคมีดังนี้
– ภาคเหนือ เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 43 – 119 มคก./ลบ.ม.
– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 57 – 158 มคก./ลบ.ม.
– ภาคกลางและตะวันตก เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 48 – 110 มคก./ลบ.ม.
– ภาคตะวันออก เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 40 – 79 มคก./ลบ.ม.
– ภาคใต้ ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ตรวจวัดได้ 17 – 28 มคก./ลบ.ม.
– กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยสถานีตรวจวัดของ คพ. ร่วมกับ กทม. เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 62 – 139 มคก./ลบ.ม.
ส่วนการคาดการณ์คุณภาพอากาศยังคงพบว่า วันที่ 3-4 กุมภาพันธ์ 2566 พื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลต้องเฝ้าระวังการสะสมของฝุ่นละอองเนื่องจากสภาพอากาศที่นิ่งและปิด โดยพื้นที่ที่ควรเฝ้าระวัง ได้แก่พื้นที่กรุงเทพกลาง กรุงธนเหนือ และใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ท้ายลม เช่นเดียวกับภาคเหนือตอนบนและล่างต้องเฝ้าระวังในห้วงเวลาเดียวกัน
ขอให้ประชาชนเฝ้าระวังสุขภาพ ลดเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง โดยเฉพาะประชาชนที่อยู่บริเวณพื้นที่คุณภาพอากาศมีผลกระทบต่อสุขภาพหรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น ผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น ถ้ามีอาการทางสุขภาพ ควรปรึกษาแพทย์
ทั้งนี้คพ. ได้ยกระดับมาตรการเพื่อลดแหล่งกำเนิด PM2.5 และป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย โดยศกพ. บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” และ “แผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2566” ซึ่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเห็นชอบได้แก่ ยกระดับการบริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบครบวงจร (ชิงเก็บ ลดเผา และ Burn Check) ลดจุดความร้อน ป้องกันและควบคุมการเกิดไฟในทุกพื้นที่ และพัฒนาระบบพยากรณ์ความรุนแรงและอันตรายของไฟ (Fire Danger Rating System : FDRS) ผลักดันกลไกระหว่างประเทศ เพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนมีประสิทธิภาพสูงสุด ตลอดจนให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนและดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละออง
สำหรับพื้นที่เป้าหมายในการลดการระบายฝุ่นละอองครอบคลุมดังนี้
1) พื้นที่เมือง แหล่งกำเนิดมาจากการจราจรและโรงงานอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ ดังนั้นจึงเน้นมาตรการในการป้องกันการเกิดปัญหาและมาตรการแก้ไขปัญหา ดังนี้
– ด้านการจราจร ขอความร่วมมือให้บำรุงรักษาเครื่องยนต์ทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน ซึ่งได้มีการกำหนดโครงการเช่น โครงการรถรัฐลดมลพิษ โครงการคลินิกรถ ลดฝุ่น PM2.5 ร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์ให้บริการตรวจเช็คสภาพเครื่องยนต์ฟรี และลดค่าน้ำมันเครื่อง ค่าอะไหล่ และค่าแรงเป็นพิเศษ การน้ำมันกำมะถันต่ำมาจำหน่ายในช่วงวิกฤต ฝุ่น PM2.5 รวมถึงการเพิ่มความเข้มงวดตรวจวัดควันดำและขยายพื้นที่ตรวจวัดควันดำเพื่อควบคุมตั้งแต่ต้นทาง เช่น บริษัทรถบรรทุก สถานีขนส่ง และอู่รถโดยสารสาธารณะประจำทางและไม่ประจำทาง อู่รถโดยสาร ขสมก. เป็นต้น
– ด้านโรงงานอุตสาหกรรม จะมีการตรวจกำกับโรงงานอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มในการปล่อยมลพิษสูง ร้อยละ 100 ตลอดปี โดยในช่วงวิกฤตระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม 2565 จะเร่งตรวจกำกับโรงงานเชิงรุกโดยเฉพาะโรงงานที่มีความเสี่ยงในการปล่อยฝุ่นละอองจากกระบวนการเผาไหม้ และกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการฟุ้งกระจายของฝุ่น โดยโรงงานที่มีความเสี่ยงในการปล่อยฝุ่นละอองประกอบด้วย โรงงานที่ใช้หม้อน้ำ โรงงานที่ใช้ถ่านหิน โรงงานหลอมเหล็ก โรงงานผลิตคอนกรีตผสมเสร็จโรงงานแอสฟัลติก รวมทั้งสิ้น 896 โรงงาน นอกจากนี้ยังมีการควบคุมสถานประกอบการ ได้แก่ กิจการผสมซีเมนต์ กิจการหลอมโลหะ อู่พ่นสีรถยนต์ กิจกรรมผลิตธูป เป็นต้น
2) พื้นที่เกษตร แหล่งกำเนิดฝุ่นละอองมาจากการเผาเศษวัสดุการเกษตร ดังนั้นจึงเน้นการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร โดยถ่ายทอดองค์ความรู้ สร้างการมีส่วนร่วมของเกษตรกรเพื่อลดการเผาในพื้นที่การเกษตร สร้างเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผา โดยกำหนดเป้าหมายใน 62 จังหวัด เกษตรกรจำนวน 17,640 คน และตั้งเป้าหมายในการลดจำนวนจุดความร้อนร้อยละ 10%
3) พื้นที่ป่า แหล่งกำเนิดฝุ่นละอองที่สำคัญมาจากไฟป่า ดังนั้นจึงเน้นการรณรงค์ประชาสัมพันธ์และให้ความรู้ ป้องกันไฟป่า การบริหารจัดการเชื้อเพลิงด้วยวิธีชิงเก็บลดเผา ไม่น้อยกว่า 3,000 ตัน บูรณาการกับทุกภาคส่วน ส่งเสริมเครือข่ายความร่วมมือในการควบคุมไฟป่า การประยุกต์ใช้ระบบพยากรณ์ระดับชั้นอันตรายของไฟ (Fire Danger Rating System: FDRS) และดับไฟป่า โดยกำหนดเป้าหมายตัวชี้วัดให้ลดจำนวนจุดความร้อนละ 20% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง
ทั้งนี้ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูล ข่าวสาร การรายงานคุณภาพอากาศ การคาดการณ์คุณภาพอากาศ และการแจ้งเตือนได้ที่เว็บไซต์และแอปพลิเคชัน Air4thai หรือ แฟนเพจศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
จากการจัดอันดับเมืองที่มีมลพิษเผยแพร่โดยเว็บไซต์ iqair โดยการตรวจวัดคุณภาพอากาศวันนี้ (2 ก.พ.) เวลา 09.30 น. พบว่า กรุงเทพฯ อยู่ในอันดับ 3 รองจากอันดับ 1 เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย อันดับ 2 เมืองลาฮอร์ ประเทศปากีสถาน โดยผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรุงเทพฯ อยู่ที่ 198 สหรัฐ AQI คิดเป็น 29.4 เท่าของค่าแนวทางคุณภาพอากาศประจำปีขององค์การอนามัยโลกซึ่งสารมลพิษหลักคือ ฝุ่น PM2.5 โดยค่าการตรวจวัดนี้จะปรับเปลี่ยนตลอดเวลาระหว่างวันเนื่องจากกิจกรรมในพื้นที่และสภาพอากาศที่มีผลต่อการสะสมของฝุ่น PM2.5 .- สำนักข่าวไทย