สตช. 3 พ.ค.- สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เร่งแก้ประวัติอาชญากรผู้เคยต้องคดีอาญา แต่ศาลยกฟ้องแล้ว เพื่อลดภาระประชาชน เพิ่มโอกาสในการกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ พร้อมปรับแก้ระเบียบการนำประวัติผู้ต้องหาเข้าสู่ระบบ แยกเป็นทะเบียนผู้ที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว และยังไม่มีคำพิพากษา
พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดโครงการ “ลบประวัติ ล้างความผิด คืนชีวิตให้ประชาชน” เพื่อคืนความเป็นธรรมให้ประชาชนที่เคยมีประวัติถูกฟ้องคดีอาญา แต่ศาลยกฟ้อง ซึ่งยังมีประวัติอาชญากรรมอยู่ในฐานข้อมูลของกองทะเบียนประวัติอาชญากร ทำให้อาจถูกตัดสิทธิ ไม่ได้รับการพิจารณาเข้าทำงาน ขาดโอกาสในการกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ เนื่องจากตามปกติหากคดีสิ้นสุด โดยอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง หรือศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง ผู้ต้องหาหรือจำเลย ต้องมายื่นคำร้องต่อกองทะเบียนประวัติอาชญากรด้วยตัวเอง เพื่อคัดชื่อออกจากกองทะเบียนประวัติอาชญากร แต่โครงการนี้จะคัดแยก หรือทำลายรายการข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากรของบุคคลที่ถูกบันทึกไว้ เพื่อลดภาระประชาชน ซึ่งเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ จะมอบหมายให้สายตรวจในพื้นที่แจ้งให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของประวัติทราบต่อไป
ทั้งนี้ ข้อมูลจากกองทะเบียนประวัติอาชญากร ณ วันที่ 28 เมษายน 2565 มีผู้ที่คดีถึงที่สุดกว่า 7.8 ล้านราย จากที่มีประวัติคดีทั้งหมดกว่า 12 ล้านราย โดยเหลือประมาณ 4.6 ล้านราย ที่ยังไม่มีการรายงานข้อมูลคดีถึงที่สุด จึงมอบหมายให้ทุกสถานีตำรวจเร่งสำรวจข้อมูลคดีอาญาถึงที่สุด ให้เสร็จสิ้นภายในปีนี้ มุ่งเน้นการคัดแยกประวัติอาชญากรรมที่เข้าเกณฑ์ เช่น คดีที่พนักงานอัยการสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง หรือสั่งยุติการดำเนินคดีอาญา, ศาลสั่งยกฟ้อง หรือไม่ประทับรับฟ้อง และศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง
ด้าน ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กำหนดให้ผู้ที่ถูกแจ้งข้อหาทุกคนต้องมีการพิมพ์ลายนิ้วมือและบันทึกประวัติเข้าสู่ทะเบียนประวัติอาชญากร แต่เมื่ออัยการสั่งไม่ฟ้อง หรือศาลยกฟ้อง ยังไม่มีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลระหว่างกัน และไม่มีการลบข้อมูลประวัติอาชญากรอัตโนมัติ ทำให้ตัวจำเลยหรือผู้ต้องหา ต้องเป็นผู้ยื่นเรื่องขอคัดแยกประวัติออกจากทะเบียนประวัติอาชญากร ซึ่งปัจจุบันสำนักงานตำรวจแห่งชาติอยู่ระหว่างปรับแก้ระเบียบ ให้มีการนำประวัติผู้ที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษา เข้าสู่ทะเบียนผู้ต้องหา ผู้ที่ศาลมีคำพิพากษาแล้วถึงจะเข้าสู่ทะเบียนประวัติอาชญากร ซึ่งยืนยันว่าไม่ใช่การล้างความผิด แต่เป็นการให้ความเป็นธรรมกับผู้ต้องคดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง หรือศาลยกฟ้อง
ขณะเดียวกัน ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยังแถลงผลการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาปลอมเอกสารตรวจสอบประวัติอาชญากร 2 ราย คดีแรก จับกุม นายวรพล ทรงสละบุญ ซึ่งโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กกลุ่มไรเดอร์ต่างๆ ว่าสามารถตรวจสอบ ลบข้อมูลประวัติอาชญากรรมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ โดยคิดค่าบริการรายละ 200-2,000 บาท แต่พบว่าเอกสารที่ผู้ต้องหาทำขึ้น เป็นเอกสารปลอม และไม่มีการลบประวัติอาชญากรรมตามที่กล่าวอ้าง อีกคดีจับกุมนายจำลอง ยิ่งตระกูล พนักงานชั่วคราวของบริษัทรักษาความปลอดภัยแห่งหนึ่ง ซึ่งมีพฤติกรรมลักษณะเดียวกัน.-สำนักข่าวไทย