กรุงเทพฯ 2 ก.พ. – รองโฆษกอัยการสูงสุด เผยแนวทางการฟ้องแพ่งคดี “หมอกระต่าย” ครอบครัวผู้เสียชีวิตสามารถยื่นข้อเท็จจริงประเด็นค่าเสียหายต่ออัยการ ขอไปในคำฟ้องคดีอาญาในคราวเดียวกันได้ หรือจ้างทนายฟ้องแพ่งเป็นอีกคดี ชี้ความผิดลหุโทษและประมาท ตามหลักกฎหมายไม่นำมาใช้ในการขอเพิ่มโทษ
นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกอัยการสูงสุด ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวไทย ถึงแนวทางการฟ้องแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหายคดี “หมอกระต่าย” ว่า ขณะนี้สำนวนคดีนี้ยังไม่มีการส่งให้พนักงานอัยการพิจารณา การฟ้องแพ่งนั้นมีแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนอยู่แล้วว่า หากพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญา ในคดีขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ทางฝ่ายผู้เสียหายไม่จำเป็นต้องให้ทนายฟ้องร้องเป็นคดีแพ่ง โดยฝ่ายผู้เสียหายสามารถยื่นข้อเท็จจริงเรื่องราว ประเด็นค่าเสียหายทั้งหมดให้กับอัยการ โดยอัยการจะสามารถเอาค่าเสียหายทั้งหมด ขอไปในคำฟ้องคดีอาญาได้เลย โดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีใหม่ และไม่เสียค่าธรรมเนียมใดๆ
แนวทางปฏิบัติของพนักงานอัยการทั่วประเทศ เมื่อรับคดีเข้ามา จะรู้แนวทางปฏิบัติชัดเจนว่า ต้องมีหนังสือแจ้งไปยังฝ่ายผู้เสียหายให้รีบยื่นเข้ามา พนักงานอัยการจะได้รวบรวมเข้าไปในคำฟ้องในคราวเดียวกัน และแม้ว่าอัยการจะดำเนินการฟ้องไปแล้ว ฝ่ายผู้เสียหายก็สามารถยื่นเอกสาร เข้ามาภายหลังได้ แต่กฎหมายกำหนดเงื่อนไขสำคัญว่า ในกรณีอัยการฟ้องไป หากจะขอค่าเสียหาย ต้องขอก่อนที่อัยการจะเอาพยานปากแรกเข้าสู่การพิจารณา แต่เป็นกรณีที่จำเลยในคดีให้การปฏิเสธ แต่หากอัยการฟ้องแล้ว จำเลยให้การรับสารภาพ ต้องยื่นคำร้องก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา ซึ่งอัยการมีแนวทางชัดเจน จะมีหนังสือแจ้งไปยังผู้เสียหายอยู่แล้ว
โดยในคดีลักษณะนี้สามารถที่จะฟ้องค่าเสียหายทางแพ่ง คือ
- ค่าปลงศพ
- ค่ารักษาพยาบาล
- ค่าขาดไร้อุปการะที่ต้องเลี้ยงดูครอบครัว ซึ่งสามารถเรียกเอาได้
- ค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น
- ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ก่อนตาย
- ค่าขาดแรงงาน
เมื่ออัยการได้ข้อมูลมาก็จะรวบรวมทำเป็นข้อเท็จจริง สรุปบรรยายไปในคำฟ้อง หรือเพิ่มเติมในภายหลัง เพื่อให้ศาลกำหนดในคำพิพากษาได้ว่า ควรจะให้แต่ละรายเท่าไร
ส่วนในคดีอาญานั้น ที่ผ่านมาคดีที่อัยการมีการฟ้องต่อศาล ในคดีขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี อายุความ 15 ปี คดีประเภทนี้ต้องย้ำว่าเป็นอาญาแผ่นดิน ไม่สามารถยอมความได้ แต่ละคดีศาลจะลงโทษแค่ไหนเพียงใด เป็นดุลพินิจของศาล ซึ่งศาลจะดูเป็นเรื่องๆ ไป โดยดูพฤติการณ์ ความรับผิดชอบ ความพอใจของฝ่ายสูญเสีย องค์ประกอบทั้งหมด ศาลจะนำมาพิจารณาประกอบการใช้ดุลพินิจในการตัดสินคดี แต่ไม่ได้หมายความว่า คดีจะลงโทษ แล้วจะรอการลงโทษเสมอไป ไม่ติดคุก ไม่มีสูตรสำเร็จเช่นนั้น โดยดุลพินิจของศาลจะดูเป็นเรื่องๆ ไป. – สำนักข่าวไทย