กทม. 18 มี.ค. – ลูกชายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับพวก ต้องลุ้นรอด-ไม่รอดคุก เมื่อศาลฎีกาสั่งย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ หลังสั่งยกฟ้องจำเลยในคดีรุกป่าเขาแพง เรื่องสำนวนเคลือบคลุม
นายแทน เทือกสุบรรณ ลูกชายนายสุเทพ เทือกสุบบรรณ แกนนำ กปปส. มาศาลอาญา ถนนรัชดาฯ พร้อมทนายความ เพื่อฟังคำพิพากษาของศาลฎีกา คดีรุกป่าเขาแพง ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายพรชัย ฟ้าทวีพร ผู้จัดการห้างหุ้นส่วนเรืองปัญญาคอนสตรัคชั่น, นายสามารถ หรือ โกเข็ก เรืองศรี หุ้นส่วน หจก.เรืองปัญญาฯ และนายหน้าขายที่ดิน, นายแทน เทือกสุบรรณ บุตรชายนายสุเทพ และนายบรรเจิด เหล่าปิยะสกุล อดีตเลขานุการส่วนตัวของนายสุเทพ ตกเป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานร่วมกันก่อสร้าง แผ้วถางป่า หรือเผาป่า หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่า เหตุเกิดช่วงปี 2543-2544
จำเลยที่ 1 และ 2 ถูกแจ้งความดำเนินคดีฐานร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือ ครอบครอง ทำลาย แผ้วถางป่าเขาแพง อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เนื้อที่ 31 ไร่ 2 งาน 97 ตารางวา ส่วนจำเลยที่ 3 และ 4 ถูกดำเนินคดีฐานร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือ ครอบครอง ทำลาย แผ้วถางป่าเขาแพง อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เนื้อที่ 14 ไร่ ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำโดยไม่ได้รับอนุญาต
หลังเข้าห้องพิจารณาคดีเพื่อฟังคำพิพากษาไม่ถึง 30 นาที นายแทนได้ลงมาจากศาล พร้อมปฏิเสธให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ขณะที่นายสวัสดิ์ เจริญผล ทนายความ เปิดเผยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นตัดสินจำคุกจำเลยที่ 1 และ 2 คนละ 5 ปี ส่วนจำเลยที่ 3 และ 4 ตัดสินจำคุกคนละ 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา เนื่องจากพิเคราะห์ว่าเป็นเรื่องร้ายแรง
ต่อมาในชั้นศาลอุทธรณ์ หลังตรวจสำนวนแล้ว ได้พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งหมด โดยในคำพิพากษาระบุว่า สำหรับจำเลยที่ 1 และ 2 สำนวนคดีมีความเคลือบคลุม หรือไม่ชัดเจน ไม่กระจ่างแจ้งในการบรรยายฟ้อง อัยการจึงยื่นฎีกาไปยังศาลฎีกา เพื่อขอให้วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว โดยผลการวินิจฉัยของศาลฎีกา เห็นว่าสำนวนคดีไม่ได้เคลือบคลุมตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษา จึงเห็นควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาใหม่ ซึ่งกระบวนการหลังจากนี้ ศาลอุทธรณ์จะเรียกสำนวนคดีในศาลชั้นต้นประกอบกับที่มีการไต่สวนในชั้นอุทธรณ์มาพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้ง เพื่อออกคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ใหม่ ซึ่งไม่ทราบว่าต้องใช้เวลามากน้อยเพียงใด เนื่องจากคดีนี้มีรายละเอียดค่อนข้างมาก และแม้ว่าตามปกติแล้วศาลจะใช้พยานหลักฐานเดิมที่มีการไต่สวนไปแล้วในการพิจารณา แต่ศาลก็สามารถใช้ดุลยพินิจในการนัดไต่สวนเพิ่มเติมได้ ส่วนจะมีผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาของจำเลยที่ 3 และ 4 หรือไม่ ยังบอกไม่ได้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลในการพิจารณาคดีหลังจากนี้.-สำนักข่าวไทย