13 มิ.ย. – ตำรวจสอบสวนกลาง ร่วมกับ อย. ทลายเครือข่ายนายทุนเวียดนาม เปิด 11 เว็บไซต์หลอกขายนมผงปลอม โอ้อวดสรรพคุณลวงโลก เกินจริง ยึดของกลางมูลค่ากว่า 18 ล้านบาท
ตำรวจปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ บก.ปคบ. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แถลงผลหลังเข้าตรวจค้นโกดังเก็บสินค้าแห่งหนึ่งใน อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ พบแรงงานลาวและเมียนมา 6 คน กำลังแพ็กผลิตภัณฑ์เพื่อรอจำหน่าย เบื้องต้นยึดของกลางผลิตภัณฑ์อาหารยาและบรรจุภัณฑ์อื่นๆ รวม 41 รายการ กว่า 20,000 ชิ้น แบ่งเป็นนมผงยี่ห้อต่างๆ 8 ยี่ห้อ จำนวน 12,625 กระปุก อาหารเสริมสำหรับเด็ก 1,776 ชิ้น วิตามินที่ไม่มีเลขสารบบอาหาร 95 ชิ้น ยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา 3,660 ชิ้น รวมมูลค่ากว่า 18 ล้านบาท
คดีนี้สืบเนื่องจากปัจจุบันพบผลิตภัณฑ์สุขภาพในไทยกำลังได้รับความสนใจจากผู้บริโภคและมีการแพร่ระบาดของผลิตภัณฑ์สุขภาพปลอม อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง มีแนวโน้มมากขึ้น จึงสืบสวนพบว่าขบวนการดังกล่าวมีนายทุนชาวเวียดนามอยู่เบื้องหลัง นำผลิตภัณฑ์เข้าทางฮานอย ผ่านเว็บไซต์ของตัวเอง 11 เว็บไซต์ โดยมีการกล่าวอ้างอวดสรรพคุณเกินจริง เช่น เมื่อบริโภคผลิตภัณฑ์แล้วจะทำให้ลดระดับน้ำตาลในเลือด กระตุ้นการทำงานของอินซูลิน ป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายมากกว่าผลิตภัณฑ์อื่นๆ 26 เท่า พัฒนาภูมิต้านทางในเด็ก ทำให้สูงขึ้น 3-5 เซนติเมตร และยังกล่าวอ้างว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองจาก FDA (องค์การอาหารและยา) สหรัฐอเมริกา ขายดีเป็นอันดับ 1 ในนิวซีแลนด์
โดยการจำหน่ายจะไม่ขายในแพลตฟอร์มออนไลน์ยอดนิยม แต่จะขายภายในเว็บไซต์ตัวเอง ที่มีฐาน IP อยู่ต่างประเทศ โดยการสั่งซื้อจะให้ลูกค้าที่สนใจกรอกชื่อ ที่อยู่ และเบอร์โทรศัพท์ จากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่โทรศัพท์กลับมาเพื่อเสนอโปรโมชั่น และเมื่อลูกค้าซื้อไปแล้ว 2-3 สัปดาห์ จะมีการโทรศัพท์มาติดตามผล และเสนอโปรโมชั่นให้อีก ซึ่งจะขายในราคา 1,090-1,190 บาท มียอดขายเดือนละ 3,000-6,000 ออเดอร์ ส่วนผู้เช่าโกดังที่เป็นชาวเวียดนามได้เดินทางออกนอกประเทศไปแล้ว หลังจากนี้จะส่งของกลางทั้งหมดไปตรวจหาสารที่เป็นอันตราย สำหรับนายทุนมีความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ร.บ.ยา และ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง
ส่วนแรงงานต่างด้าว 6 คน พบเดินทางเข้าประเทศถูกต้องตามกฎหมาย แต่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน ตำรวจแจ้ง 5 ข้อหา เช่น ร่วมกันจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง เป็นบุคคลต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน
ด้านรองเลขาธิการ อย. บอกว่า การตรวจพบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นการพบจากการโฆษณาผ่านออนไลน์ที่โฆษณาเกินจริง ไม่มีฉลาก อย. หรือฉลากภาษาไทย อีกทั้งยังขายในเว็บไซต์ส่วนตัว ไม่มีวางขายในประเทศหรือแพลตฟอร์มออนไลน์ชื่อดัง จึงประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมตรวจสอบ โดยกลุ่มลูกค้าจะเป็นกลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ
นอกจากนี้ยังพบว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นการนำเข้ามาโดยผิดกฎหมาย จะลอกเลียนแบบชื่อกับผลิตภัณฑ์ที่ขายตามท้องตลาดที่เป็นที่ยอดนิยม อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดและหลงเชื่อ พร้อมแนะนำประชาชนให้ดูและ เลือกซื้อให้สังเกตยาต้องมีเลขทะเบียนตำรับ อาหารต้องมีเลขสารบบอาหารหรือเครื่องหมาย อย. และย้ำว่าไม่มีอาหารหรืออาหารเสริมชนิดใดที่มีสรรพคุณบำบัด บรรเทา รักษาโรค ขอให้ผู้บริโภคระมัดระวังและไตร่ตรองให้รอบคอบ อย่าหลงเชื่อข้อมูลเท็จ โฆษณาเกินจริง.-สำนักข่าวไทย