กทม. 26 มี.ค. – “กรินทร์” ลูกชายเฮียเก้า มอบตัวดีเอสไอ คดีสวมสิทธิส่งออกตีนไก่ หลังเดินทางกลับจากจีน
ชุดสืบสวนสะกดรอยและการข่าวดีเอสไอ เข้าจับกุมตัวนายกรินทร์ อายุ 25 ปี ลูกชายบุญธรรมของเฮียเก้า ผู้ต้องหาในคดีตีนไก่สวมสิทธิ ได้ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง หลังเดินทางกลับจากจีน ก่อนควบคุมตัวมายังอาคารดีเอสไอเพื่อดำเนินคดีทางกฎหมาย
นายกรินทร์ ลูกชายเฮียเก้า ถือเป็นตัวการสำคัญทำหน้าที่รับออเดอร์ บริหารการเงิน และขายตีนไก่ส่งจีน พบเงินหมุนเวียนกับเครือข่ายสูงถึง 20 ล้านบาท ทั้งยังมีหน้าที่ติดต่อในการนำตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งบรรจุตีนไก่เข้ามาภายในราชอาณาจักรไทย และเมื่อนำเข้ามาแล้วจะนำไปผลิตที่บริษัทในพื้นที่จังหวัดนครปฐม จากนั้น จะส่งออเดอร์ไปที่จีน และทางจีนก็จะจ่ายเงินกลับมา ซึ่งจีนมักสั่งซื้อไม่อั้นและจะมีการจ่ายเงินล่วงหน้า ลักษณะวนเป็นวัฏจักร เกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2564-2565 นอกจากนี้ ในช่วงปี 2564 พบตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุตีนไก่ 200 กว่าตู้
นอกจากนี้ นายกรินทร์ มีบทบาทเป็นกรรมการใน 9 บริษัท แต่บริษัทที่ใช้ทำธุรกิจจริงๆ มี 3 บริษัท ซึ่งจะรับโอนเงินชำระค่าตีนไก่จากต่างประเทศ ทั้งนี้ ในบรรดาบริษัททั้ง 9 แห่ง ที่นายกรินทร์เข้าไปเกี่ยวข้อง มีทั้งบริษัทที่ดำเนินการในธุรกิจอื่นๆ แต่นำมาใช้ในการนำเข้าสินค้าตีนไก่และส่งออกไปจำหน่ายยังจีน ทั้งนี้ หากนายกรินทร์ให้การเป็นประโยชน์ อาจได้รับการพิจารณาให้ประกันตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวนต่อไป
ส่วนความคืบหน้าในคดีพิเศษนี้ จากการตรวจสอบสถานภาพของเจ้าหน้าที่รัฐตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี มีใครประจำการบ้าง เนื่องจากเจ้าหน้าที่ได้รับข้อมูลมีการจ่ายเงินให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งกรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ และกรมประมง ซึ่งจะตรวจสอบรายชื่อนามสกุลที่ปรากฎในบัญชีส่วย ว่าเป็นชื่อนามสกุลจริงหรือไม่ และมีตัวตนหรือไม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างส่งข้อมูลไปสอบถามทั้ง 3 หน่วยงานแล้ว แต่เบื้องต้น พบว่ามีบางรายประสานเข้าให้ข้อมูลกับดีเอสไอ และบางรายเกษียณอายุราชการไปแล้ว ส่วนจะต้องแจ้งข้อหาเพิ่มเติมประเด็นให้สินทรัพย์แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือไม่นั้น อยู่ในขั้นตอนการสอบสวน
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวยังได้ติดตามความคืบหน้าคดีหมูเถื่อน 161 ตู้ ล่าสุด พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน เปิดเผยว่า แยกสำนวนออกเป็น 10 เลขคดีพิเศษ และส่งสำนวนให้ ป.ป.ช. ไปแล้ว 3 สำนวน ส่วนอีก 7 สำนวน พิจารณาจากข้อเท็จจริงพบว่ามี 2 บริษัทที่มีเจ้าหน้าที่รัฐ 3 หน่วยงานเข้าไปเกี่ยวข้อง (กรมปศุสัตว์ กรมศุลกากร และกรมประมง) ตอนนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบสถานภาพ หากเป็นเจ้าหน้าที่รัฐจริง 2 สำนวนนี้ จะส่งให้ ป.ป.ช. ดำเนินการ ขณะที่ 5 สำนวนที่เหลือจะส่งไปยังพนักงานอัยการคดีพิเศษ คาดว่าจะเเล้วเสร็จภายในเดือนเมษายนนี้.-สำนักข่าวไทย