26 ก.พ. – ผบ.ตร. กำชับทุกหน่วยป้องกันแก้ไขภาวะโรคซึมเศร้าของกำลังพล ให้ผู้บังคับบัญชาหมั่นตรวจสอบลูกน้อง หากพบให้ปรับหน้างาน ไม่สัมผัสประชาชน มอบโรงพยาบาลตำรวจเป็นพี่เลี้ยงหน่วยในการแก้ปัญหา ส่วนคดีตำรวจ สภ.ชะอวด คลั่งทำร้ายชาวบ้าน สั่งให้ทำคดีตรงไปตรงมา ให้ความเป็นธรรมผู้สูญเสีย
วันนี้ (26 ก.พ.67) พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากกรณี ส.ต.อ.ชวนิล ฯ ผบ.หมู่ (ป).สภ.ชะอวด คลุ้มคลั่ง ถีบมอเตอร์ไซค์ชาวบ้านที่ขับผ่านมาและใช้อาวุธมีดแทงเสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บสาหัส 1 ราย เมื่อวันที่ 24 ก.พ.67 ที่ผ่านมานั้น ในทางคดี ได้สั่งการให้ พล.ต.ต.สมชาย ซื่อต่อตระกูล ผบก.ภ.จว.นครศรีธรรมราช ลงมาควบคุมด้วยตนเอง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม เกิดความเชื่อมั่นของสังคม ซึ่งตำรวจได้แจ้งข้อกล่าวหา “พยายามฆ่าและฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา” และมีการตรวจปัสสาวะและเก็บตัวอย่างเลือดส่งตรวจพิสูจน์ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมมีคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนแล้ว
สำหรับ ส.ต.อ.ชวนิล ฯ มีประวัติป่วยเป็นโรคซึมเศร้า เคยรักษาตัวที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ จนอาการดีขึ้น ซึ่งในวันเกิดเหตุ ส.ต.อ.ชวนิล ฯ ได้ขับรถยนต์เกิดอุบัติเหตุตกข้างทาง เจ้าหน้าที่รถยกให้ความช่วยเหลือ นำรถยนต์คันที่เกิดเหตุไปที่หน้าบ้านพักตำรวจ สภ.ชะอวด จากนั้น ส.ต.อ.ชวนิล ได้โทรศัพท์พูดคุยกับมารดา และไม่สามารถควบคุมสติตัวเองได้ ไล่ทำร้ายบุคคลที่อยู่บริเวณดังกล่าวด้วยอาวุธมีดแบบพับ จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บสาหัส 1 ราย ได้สั่งการย้ำ ผบก.ภ.จว.นครศรีธรรมราช ให้ทำคดีตรงไปตรงมา ดูแลเยียวยาญาติผู้เสียชีวิต และผู้ได้รับบาดเจ็บ ให้เกิดความเป็นธรรมที่สุด
ส่วนมาตรการป้องกันแก้ไขภาวะโรคซึมเศร้า หรือความเครียดจากการทำงานของตำรวจนั้น ที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการตั้งแต่การรับสมัครเข้าเป็นตำรวจ โดยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติสั่งการให้ตรวจสอบประวัติ และตำรวจทุกนายต้องผ่านการตรวจสุขภาพจิต แต่หลังจากเข้ามาทำงาน ยอมรับว่าหน้างานของตำรวจจะมีความเครียดหลายด้าน ทำให้ตำรวจบางนายเกิดภาวะของโรคซึมเศร้า เกิดความเครียดในการทำงาน ได้สั่งการให้ทุกหน่วยทั่วประเทศ ให้ผู้บังคับบัญชาหมั่นลงไปตรวจสอบ สำรวจ เข้าไปดูแลผู้ใต้บังคับบัญชา หากพบให้ปรับเปลี่ยนหน้างานไม่ให้สัมผัสประชาชน โดยให้ทำงานอย่างอื่น ไม่ให้เกิดภาวะเครียด ควบคู่ไปกับการรักษา โดยให้โรงพยาบาลตำรวจคอยเป็นพี่เลี้ยงให้หน่วย พร้อมกำชับผู้บังคับบัญชาทุกระดับต้องให้ความใส่ใจกับมาตรการดังกล่าว ปฏิบัติตามคำสั่ง 1212/2537 เพื่อดูแลผู้ใต้บังคับบัญชา ให้สามารถทำงาน ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้สภาวะของสังคมที่ปรับเปลี่ยนไป เพื่อเกิดประโยชน์ต่อสังคมและประชาชนสูงสุด .-412-สำนักข่าวไทย