กทม. 9 พ.ค.- สภาทนายความฯ จัดทนายความอาสาให้ความช่วยเหลือครอบครัวเหยื่อไซยาไนด์ ยืนยัน อาการป่วยจิตเวช-ตั้งครรภ์ ไม่เป็นอุปสรรคในการที่ศาลจะพิจารณาลงโทษ พร้อมเตรียมตรวจสอบทนายแอม แสดงพฤติกรรมผิดมรรยาททนายความหรือไม่
11.30 น. ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสมาคมทนายความ ญาติเหยื่อในคดีไซยาไนด์ นายรพี ชำนาญเรือ ผู้ประสานงานเหยื่อในคดี และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันแถลงข่าวในคดีนี้ โดย ดร.วิเชียร ชุบไธสง ระบุว่า ทางสภาทนายความฯ ได้รับการติดต่อจากญาติของผู้เสียชีวิต และนายรพี เพื่อให้ทางสภาทนายความฯ ช่วยเหลือทางกฎหมาย ซึ่งจำนวนของเหยื่อในคดีนี้มีทั้งหมด 14 คน แต่ในวันนี้มา 5 ครอบครัว ได้แก่ นางสาวนิตยา แก้วบุปผา (นิด) นางสาวดาริณี เทพหวี (ฟ้า) นายสุทธิศักดิ์ พูนขวัญ (แด้) นางสาวศิริพร ขันวงษ์ (ก้อย) และนางสาวผุสดี สามบุญมี (ครูอ๊อด) ส่วนอีก 9 ครอบครัว ยังไม่สะดวกเดินทางมาในวันนี้ เพราะอยู่ต่างจังหวัดและติดภารกิจเรื่องงาน
ดร.วิเขียร ยังยืนยันอีกว่า ทางสภาทนายความฯ ยินดีให้การช่วยเหลือครอบครัวของเหยื่อทุกราย โดยที่ญาติไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายค่าทนายความแม้แต่บาทเดียว ซึ่งทางสภาทนายความฯ จะจัดทนายความอาสาช่วยเหลือทางคดีในทางกฎหมาย พร้อมทำงานควบคู่ทางตำรวจที่อยู่ระหว่างสืบสวนสอบสวนในคดีดังกล่าว รวมถึงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เบื้องต้นได้ตั้งคณะทำงานศึกษาให้ความช่วยเหลือแล้ว แต่อยู่ระหว่างหารือว่า ต้องใช้ทนายความกี่คนกับจำนวนเหยื่อแต่ละคดี
ส่วนอุปสรรคที่เหยื่อบางรายเหตุเกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อน และไม่มีการชันสูตรศพนั้น เป็นหน้าที่ของพรักงานสอบสวนไปดูว่ามีส่วนเชื่อมโยงไปถึงผู้กระทำคนดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งในหน้าที่ของทนายความก็ต้องแสวงหาข้อเท็จจริง ร่องรอย และพบานหลักฐานที่หลงเหลืออยู่ ส่วนจะรวบรวมได้มากน้อยเพียงใด ต้องลงไปทำก่อน
เมื่อผู้สื่อข่าวถามต่อว่า คดีลักษณะวางยาพิษ มีความยากง่ายมากน้อยเพียงใด และจะสามารถสู้ทนายความอีกฝ่ายได้หรือไม่ ดร.วิเชียร ระบุว่า เคยมีคดีสำคัญที่เคยทำ คือ คดีฆาตกรรม พญ.ผัสภร บุญเกษมสันติ ที่ถูกสามีฆ่าหั่นศพเสียชีวิตเมื่อปี 2544 ตอนนั้นอัยการสั่งไม่ฟ้อง แต่เรามีทนายความไปฟ้องคดีดังกล่าวแทนญาติ จนทำให้คดีดังกล่าวนำไปสู่คำพิพากษาของศาลฎีกามีโทษประหารชีวิตจำเลยในคดีนั้น
ส่วนการฟ้องร้องค่าเสียหายในคดีแพ่งของทางญาติเหยื่อนั้น เมื่ออัยการมีความเห็นสั่งฟ้องจำเลยต่อศาลแล้ว ญาติของผู้เสียหายสามารถแต่งตั้งทนายความขอเป็นโจทย์ร่วมพนักงานอัยการ เพื่อขอเรียกร้องขอสินไหมทดแทนได้ หรือจะแยกเป็นคดีก็ได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เบื้องต้นเป็นเรื่องละเมิดฯ ซึ่งเท่ากับว่าจะดำเนินคดีทั้งคดีอาญาและคดีแพ่ง
ขณะที่ประเด็นทนายความของอีกฝ่ายที่ได้ให้สัมภาษณ์กับทีวีช่องหนึ่ง โดยแสดงกิริยาไม่เหมาะสมต่อทางญาติที่ร่วมรับฟังด้วยนั้น ดร.วิเชียร บอกว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ซึ่งทนายความก็มีหน้าที่เข้ามาแก้ต่างในชั้นพนักงานสอบสวน แต่ต้องคำนึงถึงข้อบังคับว่าด้วยมรรยาทของทนายความด้วย โดยเป็นสิ่งที่ทนายความทุกคนต้องพึงปฎิบัติ พร้อมทั้งห้ามแสดงความคิดเห็น หรือฝ่าฝืนข้อบังคับ ในส่วนี้ หากพบว่ามีการฝ่าฝืน ญาติเหยื่อสามารถเข้ามาร้องทุกข์ โดยทางคณะกรรมการมรรยาทก็จะเข้าตรวจสอบมรรยาททางทนายความ ตลอดจนหยิบยกเรื่องดังกล่าวมาเป็นคดีมรรยาท ก่อนดำเนินคดีได้
เบื้องต้นได้แต่งตั้งคณะกรรมการ 3 คน เข้ามาตรวจสอบข่าวต่างๆ ที่ปรากฏตามสื่อแล้วว่ามีอะไรที่ละเมิดบ้าง ซึ่งทนายความบางคนได้ทำบางสิ่งบางอย่างเลยเถิดจริง ขณะนี้อยู่ระหว่างสอบถามไปยังคณะกรรมการว่าจะต้องดำเนินการในรูปแบบใด
ด้านนายวีรศักดิ์ โชติวานิช อุปนายกฝ่ายเทคโนโลยีและสาระสนเทศกรรมการ ระบุถึงประเด็นประวัติการรักษาอาการจิตเวชของผู้ต้องหาว่า ในประเด็นประวัติการรักษานั้น หากช่วงเวลาที่ก่อเหตุไม่สามารถหยิบยกมาเป็นข้ออ้างที่จะไม่ได้รับโทษได้ ตลอดจนการตั้งครรภ์เช่นกันที่ไม่เป็นอุปสรรคในการที่ศาลจะพิจารณาลงโทษ และยืนยันว่าการตั้งครรภ์ไม่เป็นอุปสรรคหรือปัญหาในการพิจารณาคดี ฉันศาลในระหว่างการสืบพยาน ซึ่งต้องสงสัยยังคงประหารชีวิตสถานเดียว
ขณะที่ นายรพี ชำนาญเรือ ผู้ประสานงานเหยื่อคดีถูกวางยาไซยาไนด์ บอกว่าวันนี้เป็นตัวแทนญาติผู้เสียชีวิตทั้ง 14ราย ขอบคุณสภาทนายความที่ให้ความช่วยเหลือด้านข้อกฎหมายและคดีความ ซึ่งนอกจากทางสภาทนายความแล้วยังมีทนายคนอื่นๆที่ติดต่อเข้ามาช่วยเหลือเหยื่อด้วย
ในวันนี้ที่พาญาติมาขอความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายสภาทนายความไม่ใช่เพราะไม่มั่นใจการทำงานของตำรวจ แต่เนื่องจากเหยื่อบางคนมีข้อจำกัดและอุปสรรคในการเดินทาง ไม่สะดวกให้ข้อมูลตำรวจ ซึ่งทางสภาทนายความสามารถช่วยส่งทนายและเจ้าหน้าที่ไปรับฟังข้อมูลได้ถึงที่รวมถึงช่วยเหลือแบบไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ จึงตัดสินใจมาร้องเรียนสภาทนายความให้ช่วยอีกทางในวันนี้
เมื่อสอบถามว่า หลังจากนี้เราจะมีการร้องเรียนเรื่องมรรยาททนายความของทนายฝั่งจำเลยที่มีท่าทางไม่เหมาะสมในขณะให้สัมภาษณ์สื่อหรือไม่ นายรพีบอกว่า ตัวเองชื่อว่า สังคม และประชาชนเมื่อเห็นการสัมภาษณ์ก็น่าจะมีความรู้สึก เช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่ทนายผู้ต้องหาให้สัมภาษณ์ว่าถ้าตำรวจฟ้องคดีไม่ทันแล้วได้ออกมาจากเรือนจำจะพาไปเดิน Shopping ตัวเองเชื่อว่าพฤติกรรมแบบนี้ไม่สามารถเปลี่ยนกลมสันดานใครได้ ถึงแม้ไม่ได้ร้องเรียน แต่เชื่อว่าสังคมสามารถตัดสิ้นพฤติกรรมเองได้ว่าเหมาะสมหรือไม่ และเชื่อว่าทางสภาทนายความก็จะไม่ละเลยการตรวจสอบเรื่องนี้ .-สำนักข่าวไทย