กรุงเทพฯ 10 เม.ย. – “ชูวิทย์” ยื่นหนังสือร้องสภาทนายความ ตรวจสอบมรรยาท “ทนายษิทรา” และให้ลบชื่อเพิกถอนใบอนุญาตจากการเป็นทนาย
นายชูวิทย์ ระบุว่า พฤติกรรมของนายษิทรา ไม่เหมาะสมกับการเป็นทนายความ จึงมายื่นคำร้องเพื่อขอให้สภาทนายความลบชื่อนายษิทราออกจากการเป็นทนายความ เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง
จากกรณีตั้งโต๊ะแถลงข่าวโจมตีตน ซึ่งไม่ได้รู้จักกัน ไม่ได้เป็นคู่ความ จึงไม่รู้ว่ามีวัตถุประสงค์ใด ไม่เข้าใจว่ากล่าวหาโจมตี ประจานตนและลูกชาย อีกทั้งใช้สื่อออนไลน์เฟซบุ๊กกล่าวโจมตีตนตลอด นายษิทรา มีอาชีพเป็นทนายความ ไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องตั้งโต๊ะแถลงข่าวประจานนายชูวิทย์ การกระทำของนายษิทรา ทำให้นายชูวิทย์ เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือเกลียดชัง และเป็นการกระทำละเมิดต่อนายชูวิทย์ ยังเป็นการกระทำผิดมรรยาททนาย จึงนำหนังสือมาร้องเรียนต่อนายกสภาทนายความ ให้ตรวจสอบว่า นายษิทรา ฝ่าฝืนข้อบังคับสภาทนายความ ว่าด้วยเรื่องมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 หมวด 4 ข้อ 18 “ประกอบอาชีพ ดำเนินธุรกิจ หรือประพฤติตนอันเป็นการฝ่าฝืนต่อศีลธรรมอันดี หรือเป็นการเสื่อมเสียต่อศักดิ์ศรีและเกียรติคุณของทนายความ” ชี้ปัจจุบันมีทนายความหลายคนที่ให้ข้อมูลทางโซเชียลและไม่ครบถ้วน จึงต้องการปราบแก๊งทนายโซเชียล มองว่าเป็นอันตรายต่อประชาชน มองว่าเป็นการโฆษณา เรียกราคา ซึ่งอาชีพทนายความควรพิสูจน์ฝีมือว่าความ ไม่ใช่การพูดผ่านโซเชียลให้ประชาชนหลงเชื่อ ถูกหลอก ด้วยข้อมูลไม่ครบถ้วน หรือข้อมูลผิดๆ
ด้านนายวัชระ สุคนธ์ กรรมการมรรยาททนายความ สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นตัวแทนรับเรื่องตรวจสอบมรรยาททนาย พร้อมเปิดเผยว่า จะนำคำร้องให้คณะกรรมการมรรยาททนายความพิจารณา เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว พฤติกรรมของนายษิทรา ถือว่าเข้าข่ายผิดมรรยาททนายความ
สำหรับประชาชนสามารถร้องเรียนที่สภาทนายความได้ หากพบทนายความที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายผิดมรรยาททนายความ สภาทนายความพร้อมจะดำเนินการตรวจสอบทันที
สำหรับขั้นตอนการพิจารณาเรื่องร้องเรียน มีกรอบระยะเวลา 2-3 ปี เมื่อรับคำร้อง เรื่องจะถูกส่งไปยังคณะกรรมการสอบมรรยาท เมื่อตรวจสอบเรียบร้อยจะส่งต่อคณะกรรมการผู้บริหารสภาทนายความ
ส่วนการพิจารณาลงโทษทนายความที่ทำผิดมรรยาททนายความ มี 4 ระดับ คือ ว่ากล่าวตักเตือน, ภาคทัณฑ์, พักใบอนุญาต ไม่เกิน 3 ปี และโทษหนักสุด คือ ลบชื่อออกจากทำเนียบทนายความ หรือการเพิกถอนใบอนุญาต ทั้งนี้ การว่ากล่าวตักเตือน และภาคทัณฑ์ นั้นยังสามารถว่าความได้ แต่ความผิดที่ถูกพักใบอนุญาตและลบชื่อออกจากการเป็นทนายความนั้น ห้ามว่าความโดยเด็ดขาด
ทั้งนี้ ทนายความที่ถูกลบชื่อออกจากการเป็นทนายความนั้น ทนายความผู้ถูกร้องยังมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่ออุทธรณ์คำสั่งของสภาทนายความ หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ยังมีความเห็นเหมือนเช่นเดียวกับสภาทนายความ สามารถฟ้องศาลปกครอง เพื่อพิจารณาต่อไป และหากครบกำหนด 5 ปี ที่ถูกลบชื่อออกจากการเป็นทนายความ สามารถยื่นเรื่องขอเป็นทนายความกับสภาทนายความได้ แต่คณะกรรมการจะพิจารณาว่าสมควรจะให้กลับมาเป็นทนายความได้อีกหรือไม่. – สำนักข่าวไทย