กรุงเทพฯ 3 มี.ค. – ตำรวจไซเบอร์ชี้แจงความคืบหน้าการดำเนินคดีหลอกลงทุน Forex TRB พบผู้เสียหายมากกว่า 300 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท
พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. ชี้แจงความคืบหน้าการดำเนินคดีกับนายเตคุณ กับพวก รวม 5 ราย คดีร่วมกันหลอกลวงชักชวนผู้เสียหายหลายรายร่วมลงทุนเก็งกำไรในอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา (Forex) ผ่านนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ หรือโบรกเกอร์ FXTRB ดังต่อไปนี้
ตามนโยบายของรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ได้ให้ความสำคัญและมีความห่วงใยต่อประชาชนจากภัยการหลอกลวงผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหลอกลวงชักชวนประชาชนให้ร่วมลงทุน อ้างว่าจะได้รับผลตอบแทนสูงในเวลาอันรวดเร็ว พร้อมได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนและปราบปรามการกระทำความผิดตามกฎหมายอย่างต่อเนื่องและจริงจัง
เพื่อเป็นการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล และแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ซึ่งรับผิดชอบด้านงานป้องกันปราบปราม ได้กำชับไปยัง พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดทำการสืบสวนสอบสวน ขยายผลหาความเชื่อมโยงในคดี ปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในทุกรูปแบบ มุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
คดีดังกล่าวเมื่อประมาณเดือน มี.ค. 64 จนถึงปัจจุบัน ผู้เสียหายหลายรายถูกผู้ต้องหากับพวกชักชวนหลอกลวงให้ลงทุนเก็งกำไรในอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินสกุลต่างๆ บนแพลตฟอร์มออนไลน์ หรือเว็บไซต์ secure.elitefundgroup.com โดยมีนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ หรือโบรกเกอร์ FXTRB เป็นผู้ดำเนินการนำเงินของที่ผู้เสียหายไปลงทุนเก็งกำไรค่าเงินสกุลต่างๆ มีการแอบอ้างผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน ซึ่งหากมีการซื้อขายได้กำไร หรือขาดทุน ผู้เสียหายสามารถตรวจสอบผ่านบัญชีผู้ใช้ของตนได้ ในช่วงแรกผู้เสียหายสามารถถอนเงินได้ตามปกติ ต่อมาเมื่อประมาณเดือน ส.ค. 65 ไม่สามารถถอนเงินได้ จึงเชื่อว่าถูกหลอกลวงและได้รับความเสียหาย จึงแจ้งความร้องทุกข์ผ่านระบบรับแจ้งความออนไลน์ thaipoliceonline.com ให้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาตามกฎหมาย
ต่อมาจากการสืบสวนสอบสวนพบว่าบัญชีธนาคารที่รับโอนเงินของผู้เสียหายมีการโอนเงินเข้าออกเป็นจำนวนมากผิดปกติวิสัย โดยผู้ต้องหากับพวกไม่ได้มีการนำเงินไปลงทุนตามที่กล่าวแต่อย่างใด กลับนำไปใช้จ่ายส่วนตัว และมีการนำเงินลงทุนของผู้เสียหายรายใหม่หมุนเวียนไปให้กับผู้เสียหายรายเก่า ทำให้เชื่อว่าลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนจริง พงส.บก.สอท.1 จึงรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ยื่นคำร้องต่อศาลขออนุมัติออกหมายจับผู้ต้องหา จำนวน 5 ราย ในข้อหา “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวงนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ” ต่อมาเมื่อวันที่ 17 ม.ค. 66 เจ้าหน้าที่ตำรวจ บช.สอท. สามารถทำการจับกุมตัวผู้ต้องหาทั้ง 5 ราย พร้อมตรวจยึดของกลางหลายรายการ ส่ง พงส.ดำเนินคดีตามกฎหมายในเวลาต่อมา
กระทั่งเมื่อปลายเดือน ก.พ. 66 ที่ผ่านมา พงส.บก.สอท.1 ได้สรุปสำนวนการสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาดังกล่าวไปยังพนักงานอัยการ สำนักงานคดีเศรษฐกิจ และทรัพยากร เพื่อพิจารณาดำเนินในส่วนที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายต่อไปแล้ว
โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอฝากเตือนประชาชนถึงแนวทางการลงทุนในรูปแบบต่างๆ ดังนี้ 1.ระมัดระวังอย่าหลงเชื่อการเชิญชวนในลักษณะดังกล่าว มักเป็นการหลอกลวงในรูปแบบของแชร์ลูกโซ่ ควรศึกษาทำความเข้าใจให้ดี ก่อนตัดสินใจลงทุน พิจารณาถึงความเสี่ยง และความน่าเชื่อถือของผู้ประกอบการ
2.มิจฉาชีพมักหลอกลวงเหยื่อด้วยภาพลักษณ์ของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในเวลาอันรวดเร็ว เช่น ถ่ายภาพกับยานพาหนะหรู ที่พัก หรือของแบรนด์ต่างๆ 3.ในระยะแรกเหยื่อจะได้รับผลตอบแทนจริง เพื่อชักจูงโน้มน้าวให้เพิ่มการลงทุน ภายหลังไม่ได้รับผลตอบแทนมิจฉาชีพหนีไปกับเงินลงทุนของเหยื่อ
4.อย่าหลงเชื่อการลงทุนที่เข้าถึงได้ง่าย ได้รับผลตอบแทนสูงในเวลาอันรวดเร็ว 5.หลีกเลี่ยงการโอนเงินให้ผู้อื่นซื้อขายหรือลงทุนแทน ควรลงทุนด้วยตนเอง
6.การทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับเงินตราต่างประเทศต้องทำกับผู้ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเท่านั้น เช่น ธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทหลักทรัพย์ ประชาชนสามารถตรวจสอบรายชื่อของผู้ได้รับใบอนุญาตได้ทางเว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (www.bot.or.th)
7.ในการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ จะต้องทำกับธุรกิจที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเท่านั้น และปัจจุบันยังไม่เคยให้ใบอนุญาตแก่บุคคลหรือนิติบุคคลที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทหลักทรัพย์ ในการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเพื่อการลงทุนแต่อย่างใด
8.กรณีผู้ที่สนใจลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ควรศึกษาข้อมูลบริษัทที่ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ เช่น www.sec.or.th ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของทาง ก.ล.ต. เป็นต้น
9.หากได้รับความเสียหายในคดีลักษณะเดียวกันนี้ ให้รวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ทั้งนี้ หากพบเบาะแสการกระทำความผิดหรือข้อขัดข้องใดๆ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่สายด่วน บช.สอท. หมายเลข 1441 หรือหมายเลขโทรศัพท์ 0 2504 4850 ตลอด 24 ชม. หรือแจ้งความออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ thaipoliceonline.com -สำนักข่าวไทย