กรุงเทพฯ 16 ม.ค. – โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติชี้แจงข้อกังวลกรณีชาวจีนถือวีซ่านักท่องเที่ยวทำธุรกิจในไทย ยืนยันสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น
พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชี้แจงกรณีผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารย่านเยาวราชมีข้อกังวลชาวจีนถือวีซ่านักท่องเที่ยวทำธุรกิจในไทย โดยระบุว่ากลุ่มชาวจีนรุ่นใหม่ที่มาลงทุนโดยใช้นอมินี หรือมีเพียงวีซ่านักท่องเที่ยวเข้ามาประกอบธุรกิจหลากหลายประเภทในย่านเยาวราช เช่น ร้านอาหาร ร้านค้าขาย ฯลฯ ผลกระทบที่เกิดขึ้น คือ เม็ดเงินต่างๆ จะกระจายสู่ท้องถิ่นน้อยลง และผู้ประกอบการไทยจะประสบปัญหาในระยะยาว ขณะที่รูปแบบการใช้จ่ายจะใช้จ่ายผ่านระบบของจีนระหว่างคนจีนกับคนจีนด้วยกัน รวมถึงสามารถเปิดบัญชีได้ แต่ไม่ทราบว่าปลายทางของเงินจะกลับไปอยู่ที่ประเทศต้นทางของเขาหรือไม่ แต่ที่เห็นชัดคือ ไม่ต้องเสียภาษีเหมือนกับนักธุรกิจชาวไทยนั้น
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่มีโทษทางอาญา และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ในฐานะหน่วยงานตรวจสอบและบังคับใช้พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 สรุปดังนี้
1.คนต่างด้าวถือหนังสือเดินทางสัญชาติจีน สามารถเข้าประเทศไทยได้ โดยสามารถขอรับการตรวจลงตราที่ท่าอากาศยาน VOA Visa on arrival ประเภทการท่องเที่ยว 15 วัน ซึ่งปัจจุบันมีมติคณะรัฐมนตรี และประกาศกระทรวงมหาดไทย ขยายให้อยู่เป็นจำนวน 30 วัน และเจ้าของพักอาศัยหรือผู้ครอบครองจะต้องแจ้งที่พักอาศัยให้เจ้าหน้าที่ทราบ เมื่อรับคนต่างด้าวเข้าพักในประเทศไทย
2.กรณีคนต่างด้าวเข้ามาท่องเที่ยว จะต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์คนเข้าเมือง ซึ่งกฎหมายห้ามมิให้ประกอบอาชีพต้องห้าม หรือประกอบอาชีพโดยไม่ได้รับอนุญาตฯ หากฝ่าฝืนจะเป็นความผิดตามมาตรา 12(3) แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 หรือมาตรา 101 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และตามมาตรา 37(1) แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ซึ่งเป็นความผิดทางอาญา และเป็นเหตุให้ต้องส่งคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร และถูกห้ามมิให้เข้ามาในประเทศไทยตามเงื่อนไขที่กำหนด
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานและกฎหมายหลายฉบับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อลงพื้นที่ตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นต่อไป โดยจะให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจท่องเที่ยว สันติบาล และตำรวจในพื้นที่ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงแรงงาน กระทรวงพาณิชย์ ฯลฯ ตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด
พร้อมย้ำคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรไทยจะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 และพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 หากฝ่าฝืนมีความผิดทางอาญาและมาตรการห้ามเข้าประเทศต่อไป อีกทั้งนายจ้างหรือผู้รับคนต่างด้าวเข้าพักจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข หลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้เช่นเดียวกัน.-สำนักข่าวไทย