กรุงเทพฯ 7 ต.ค. – อดีตรอง ผบก.จเรตำรวจ จี้ปฏิรูประบบตำรวจ ทำชั้นผู้น้อยมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนก่อเหตุรุนแรง แนะสอบประวัติเชิงลึก สกัดตำรวจเอี่ยวยาเสพติด พร้อมทบทวนการพกปืน
พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตรอง ผบก.จเรตำรวจ และเลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ให้ความเห็นกรณีอดีตตำรวจก่อเหตุกราดยิงศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอุทัยสวรรค์ บ้านห้วยนาหลวง ต.อุทัยสวรรค์ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู ระบุว่าเหตุกราดยิงหรือการสังหารหมู่ ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ก่อเหตุ ก็เป็นเหตุการณ์สะเทือนใจ และยังเป็นการก่อเหตุกับบุคคลที่ไม่ได้เป็นเป้าหมายหรือมีความโกรธแค้นกันมาก่อน ลงมือกับเหยื่อที่เป็นเด็กเล็ก เป็นการกระทำที่โหดเหี้ยมผิดมนุษย์ และผู้ก่อเหตุครั้งนี้เป็นอดีตตำรวจถูกไล่ออกจากราชการ ยิ่งน่าสะเทือนใจ
พ.ต.อ.วิรุตม์ ต้องตั้งคำถามว่าคนนี้เป็นตำรวจมาได้อย่างไร เพราะมีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับยาเสพติดตั้งแต่ก่อนเป็นตำรวจ เมื่อเป็นตำรวจและอยู่ในราชการ 10 ปี ก็ยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติด แม้การคัดกรองก่อนเข้ามาเป็นตำรวจ เมื่อสอบข้อเขียน สอบสัมภาษณ์ผ่าน หากไม่มีประวัติอาชญากรรม หรือเคยถูกดำเนินคดี ก็เข้ารับราชการได้ แต่การตรวจแค่ประวัติอาชญากรรมที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้ไม่เพียงพอ จะต้องมีการสอบประวัติเชิงลึก เนื่องจากที่ผ่านมาไทยมีผู้ก่อเหตุอาชญากรรมแล้วไม่ถูกจับดำเนินคดีจำนวนมาก ทำให้คนที่เคยก่อเหตุ แต่ไม่มีประวัติถูกดำเนินคดีก็สามารถเข้ารับราชการตำรวจได้ นี่คือจุดอ่อน ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะต้องเข้มงวด ในการคัดกรองคนให้มากขึ้น และอาจต้องสืบประวัติย้อนไปถึงตอนวัยเด็ก
พ.ต.อ.วิรุตม์ ระบุว่าปกติตามหน้าที่ตำรวจบางหน่วยมีความเกี่ยวพันกับยาเสพติดอยู่แล้ว เพราะต้องทำหน้าที่จับกุม ทั้งผู้เสพ ผู้ค้า ซึ่งก็มีตำรวจไม่น้อยที่เคยทดสอบเสพยา แต่ต้องเข้าใจว่าการเสพยาเสพติด กับการติดยาเสพติดเป็นคนละเรื่องกัน ซึ่งมีบางคนทดสอบเสพยาเสพติด แต่ก็ไม่ติด ขณะที่มีบางส่วนเสพจนติด ซึ่งในวงการตำรวจจะรู้กัน แต่ไม่มีการจัดการอะไรจริงจัง อย่างมากผู้บังคับบัญชาแค่ตักเตือน ขณะเดียวกันตำรวจบางนายเป็นคนดี แต่กลายเป็นคนชั่วเพราะระบบ จะเห็นว่าตำรวจไทยเข้ารับราชการง่าย แต่ออกยาก ด้วยระบบวัฒนธรรมการปกครอง การบังคับบัญชา ทำให้ตำรวจชั้นผู้น้อยตกเป็นมือไม้ของผู้บังคับบัญชา ทำให้มีผู้ใต้บังคับบัญชาจำนวนไม่น้อยที่ขาดความศรัทธาในผู้บังคับบัญชาทุกระดับ ไม่มีความหวังในการเจริญก้าวหน้า ทำงานแค่ไหนก็ไม่ได้รับความเป็นธรรม ทั้งเรื่องขั้นเงินเดือน การแต่งตั้งโยกย้าย ความสิ้นหวังเหล่านี้ ทำให้เกิดพฤติกรรมเบี่ยงเบน ถ้าเป็นคนดีก็อาจจะลาออกไป แต่หากเป็นคนไม่ดี มีจิตใจชั่วร้ายอยู่แล้ว ก็อาจมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนไปได้ง่าย เช่น หันไปค้ายา
ส่วนกรณีอดีตตำรวจนำอาวุธปืนไปก่อเหตุ พ.ต.อ.วิรุตม์ ระบุว่าการจะคัดคนเข้ามารับราชการตำรวจต้องสอบประวัติลึกกว่าข้าราชการทั่วไป ทั้งการทดสอบสภาพจิตใจ ทัศนคติของการเป็นผู้รักษากฎหมาย การรักษาความยุติธรรม และที่สำคัญต้องมีการทบทวนการพกพาและการใช้อาวุธปืนของตำรวจ จะเห็นว่าทุกวันนี้การเป็นตำรวจเหมือนมีใบอนุญาตพกปืนไปในตัว เป็นปืนที่มีใบอนุญาต หรือไม่มี ไม่ทราบ แต่พกพาไปไหนมาไหนได้ ทั้งปืนราชการนำกลับบ้านก็ได้ หรือปืนส่วนตัว นำมาใช้ในราชการก็ได้ ออกเวรแล้วก็พกปืนไปนั่งสังสรรค์กับเพื่อน ซึ่งสิ่งเหล่านี้รัฐบาลต้องหามาตรฐานควบคุมตรวจสอบ คนพกพาอาวุธปืนก็ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ทั้งการขออนุญาต การพกพา ไม่ใช่ถือว่าความเป็นตำรวจคือใบอนุญาตพกปืน หลายคร้งมีการตั้งคำถามถึงตำรวจที่ออกเวร ก็มีการพกพาปืนทุกคน ถูกต้องหรือไม่ หรืออ้างว่าตนเองจะไม่ปลอดภัย แต่ทุกคนต้องอยู่ใต้กฎหมายของรัฐ เหมือนประชาชนคนอื่นที่ไม่ได้พกปืน เป็นเรื่องที่ต้องทบทวนทั้งการใช้และพกพาอาวุธปืน
พ.ต.อ.วิรุตม์ ยังระบุถึงสัญญาณบอกเหตุ เพราะผู้ก่อเหตุเคยถูกผู้บังคับบัญชายืดอาวุธปืนประจำกาย และเคยมีพฤติกรรมนำปืนไปข่มขู่ผู้อื่น แสดงถึงสิ่งบอกเหตุบางอย่าง ซึ่งตอนนั้นควรมีการถอนใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องกับอาวุธปืนด้วย แต่น่าเห็นใจ เพราะผู้ที่มีอำนาจในการออกใบอนุญาต คือกรมการปกครอง เมื่อตำรวจขอซื้อปืน โดยเฉพาะปืนสวัสดิการที่ซื้อกันมาก ถ้าไม่อนุญาต ก็มีปัญหาตามมาอีก กลายเป็นไม่เชื่อว่าตำรวจมีความประพฤติดีที่จะมีอาวุธปืนได้ ซึ่งก็มีปัญหาเรื่องนี้อยู่ เมื่อการเป็นตำรวจกลายเป็นใบอนุญาตพกอาวุธปืนไปในตัว ไม่จำเป็นต้องขอใบอนุญาตพกอาวุธปืน ทำให้มีคำถามตามมาว่าจะตรวจสอบควบคุมอย่างไร เพราะคนที่จับกุมดำเนินคดีก็เป็นตำรวจ ที่ผ่านมาเคยดำเนินการหรือไม่ ซึ่งการพกพาและใช้อาวุธปืนต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน แม้จะมีสิทธิ์ในการพกพา แต่ต้องอยู่ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น ไม่ใช่ว่าแต่งเครื่องแบบตำรวจจะมีสิทธิ์พกพาอาวุธปืนได้ เป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องทบทวน
เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ระบุอีกว่านอกจากพฤติกรรมส่วนตัวของผู้ก่อเหตุยังต้องมองภาพรวมของระบบเรื่องการปฏิรูปตำรวจ โดยเฉพาะการที่ตำรวจได้มีโอกาสบรรจุรับราชการในจังหวัดภูมิลำเนา เช่น กรณีของผู้ก่อเหตุมีภูมิลำเนาในจังหวัดหนองบัวลำภู แต่เริ่มต้นเข้ารับราชการที่ สน.ยานวา กรุงเทพฯ เมื่อมาบรรจุต่างถิ่น ก็จะมีปัญหาหลายด้าน ทั้งเรื่องครอบครัว เศรษฐกิจ การดำรงชีวิต และไม่มีความสัมพันธ์กับพื้นที่ เป็นอีกปัจจัยที่นำไปสู่ความเบี่ยงเบนหันไปทำผิดกฎหมาย ขณะเดียวกันควรให้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่เป็นหัวหน้าส่วนราชการของจังหวัดต้องมีอำนาจในการปกครองตำรวจตามลำดับชั้น ต้องให้อำนาจจังหวัดในการรับสมัครตำรวจเอง หรือเปิดรับสมัครในภูมิภาค คนที่สมัครก็ต้องมีภูมิลำเนาในจังหวัดเท่านั้น เมื่อบรรจุแล้วก็เดือดร้อนขอย้ายกลับ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เฉพาะปัญหาส่วนบุคคล ต้องพูดถึงปัญหาเชิงระบบด้วย จากที่ตนเองได้สัมผัสมาตำรวจที่ได้บรรจุในภูมิลำเนาส่วนใหญ่มีความสุข เงินทองพอใช้ การย้ายตำรวจภูมิภาคจากที่หนึ่งไปอีกที่ต้องยกเลิกให้เติบโตได้ในจังหวัดนั้น ๆ.–สำนักข่าวไทย