กำแพงเพชร 5 ต.ค. – พ่อค้าไก่ย่างใน จ.กำแพงเพชร ที่แอบอ้างตัวเป็นทนายความโดยไม่มีใบอนุญาต อาจถูกลงโทษให้จำคุกเรียงตามจำนวนการกระทำความผิด ครั้งละไม่เกิน 2 ปี
จากกรณีมีชายประกอบอาชีพพ่อค้าไก่ย่าง ในจังหวัดกำแพงเพชร ทำและใช้ใบอนุญาตทนายความปลอม เพื่อแอบอ้างตัวเป็นทนายความให้ผู้อื่นว่าจ้างให้เป็นทนายความ ขนาดถึงว่าความให้ในชั้นศาลนั้น วันนี้ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทย ได้ตรวจสอบเนื้อหาของพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2528 ที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว พบว่า ตามมาตรา 7 ใน พ.ร.บ.ทนายความได้ให้นิยามผู้ประกอบวิชาชีพ “ทนายความ” หมายความถึง ผู้ที่สภาทนายความได้รับจดทะเบียนและออกใบอนุญาตให้เป็นทนายความ
โดยตามาตรา 35 ได้กำหนดคุณสมบัติผู้ขอขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาตทนายความจะต้องเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีหรืออนุปริญญาทางนิติศาสตร์ หรือประกาศนียบัตรในวิชานิติศาสตร์ ซึ่งเทียบได้ไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรืออนุปริญญาจากสถาบันการศึกษาซึ่งสภาทนายความเห็นว่ามีมาตรฐานการศึกษา และต้องเป็นสมาชิกแห่งเนติบัณฑิตยสภา ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่อง ในศีลธรรมอันดีและไม่เป็นผู้ได้กระทำการใดซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่น่าไว้วางใจในความซื่อสัตย์สุจริต รวมทั้งต้องไม่อยู่ในระหว่างต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกและไม่เคยต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในคดีที่คณะกรรมการเห็นว่าจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ และต้องไม่เป็นบุคคลผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ล้มละลาย ไม่เป็นโรคติดต่อซึ่งเป็นที่รังเกียจแก่สังคม หรือ ไม่เป็นผู้มีกายพิการหรือจิตบกพร่องอันเป็นเหตุให้เป็นผู้หย่อนสมรรถภาพในการประกอบอาชีพทนายความ รวมทั้งไม่เป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นซึ่งมีเงินเดือนและตำแหน่งประจำเว้นแต่ข้าราชการการเมือง และไม่เป็นผู้ที่เคยถูกลบชื่อจากทะเบียนทนายความในระยะเวลา 5 ปี ก่อนขอยื่นจดทะเบียน
นอกจากนี้ในกรณีที่ผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นทนายความไม่เคยเป็นทนายความ หรือ ไม่เคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้พิพากษา ตุลาการศาลทหาร พนักงานอัยการ อัยการทหารหรือทนายความตามกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหารมาก่อน มาตรา 38 ตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ กำหนดให้คณะกรรมการจะรับจดทะเบียนและออกใบอนุญาตให้ก็ต่อเมื่อผู้ยื่นคำขอได้ผ่านการฝึกอบรมมรรยาททนายความ หลักปฏิบัติเบื้องต้นในการว่าความ และการประกอบวิชาชีพทางกฎหมายแล้ว เว้นแต่ผู้ยื่นคำขอจะได้ผ่านการฝึกหัดงานในสำนักงานทนายความมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี เมื่อเห็นเป็นการสมควร คณะกรรมการจะสั่งยกเว้นให้ผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาตซึ่งมีคุณสมบัติตามที่กำหนดในข้อบังคับไม่ต้องเข้ารับการฝึกอบรมตามวรรคหนึ่งก็ได้การฝึกอบรมตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักสูตร วิธีการ และระยะเวลาที่กำหนดในข้อบังคับ (ต้องผ่านการฝึกอบรมวิชาว่าความและทดสอบความรู้จากสภาทนายความก่อน)
ขณะที่ในมาตรา 33 พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ได้กำหนดห้ามมิให้ผู้ซึ่งไม่ได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาต หรือผู้ซึ่งขาดจากการเป็นทนายความหรือต้องห้ามทำการเป็นทนายความว่าความในศาล หรือแต่งฟ้อง คำให้การ ฟ้องอุทธรณ์ แก้อุทธรณ์ ฟ้องฎีกา แก้ฎีกา คำร้อง หรือคำแถลงอันเกี่ยวแก่การพิจารณาคดีในศาลให้แก่บุคคลอื่น เว้นแต่จะได้กระทำในฐานะเป็นข้าราชการผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่หรือเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ องค์การของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่หรือมีอำนาจหน้าที่กระทำได้โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความหรือกฎหมายอื่น โดยผู้ฝ่าฝืนมีโทษ จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 4 หมื่น บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ.- สำนักข่าวไทย