กรุงเทพฯ 29 ก.ย.-“แพรรี่” พร้อม “ทนายเกิดผล” เข้าร้องเรียนต่อสภาทนายความฯ ขอให้สอบสวนมรรยาททนายความ “ทนายธรรมราช” กรณีใช้ถ้อยคำเหยียดหยาม ผ่านการตอบโต้ในประเด็นสังคมทางสื่อออนไลน์ และจะดำเนินคดีทางอาญาด้วย
นายไพรวัลย์ วรรณบุตร หรือแพรรี่ พร้อมนายเกิดผล แก้วกำเนิด ทนายความ เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อสภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมป์ ให้สอบสวนมรรยาททนายความนายธรรมราช ทนายความ เจ้าของบัญชีเพจเฟซบุ๊กชื่อบัญชี The lawyer of ligality หลังเกิดการตอบโต้ในประเด็นสังคม ผ่านสื่อออนไลน์ แล้วนายธรรมราช โพสต์ข้อความและถ่ายทอดสดโดยใช้ถ้อยคำในลักษณะดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และเหยียดหยามเพศภาพ
นายไพรวัลย์ เปิดเผยภายหลังกรณีของตัวเองกับพระชาตรี จบลง นายธรรมราช นำประเด็นข้อโต้งแย้งที่ตัวเองมีต่อพระชาตรี ไปแจ้งความโดยกล่าวหาว่า ตัวเองดูหมิ่นพระชาตรีและคณะสงฆ์ ซึ่งนายธรรมราช โพสต์ข้อความและถ่ายทอดสดเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วยถ้อยคำที่กล่าวพาดพิงเสียดสี อาทิ เรื่องหาเงินไปซื้อวิกผมและเหยียดหยามเรื่องเพศภาพ แม้จะไม่ได้ระบุชื่อตัวเอง แต่ฟังแล้วเข้าใจได้ว่าหมายถึงใคร ซึ่งส่วนตัวเห็นว่า ถูกดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งทุกคนควรเคารพผู้อื่น ซึ่งนอกจากร้องให้สอบสวนมรรยาททนายความแล้ว ยังดำเนินคดีทางอาญาไว้ด้วย
ส่วนกรณีของนายเกิดผล เปิดเผยว่า ตัวเองโพสต์ข้อความถึงประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับการดูหมิ่นคณะสงฆ์ หลังมีประเด็นระหว่างแพรรี่กับนายธรรมราช หลังจากนั้นนายธรรมราชโพสต์ตอบโต้กลับ ซึ่งได้ใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสม โดยใช้อาการเจ็บป่วยของตัวเองมาเกี่ยวข้อง ซึ่งถือเป็นการกล่าวเสียดสี เหยียดหยามและซ้ำเติม และไม่ได้มีท่าทีสำนึกต่อการกระทำ เพราะพบว่าให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนโดยกล่าวพาดพิงซ้ำอีก
ขณะที่นายวิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมถ์ กล่าวว่า หลังรับเรื่องร้องเรียนของทั้ง 2 คนแล้ว จะส่งต่อกรรมการมรรยาททนาย ให้พิจารณาเรื่องเข้าสู่กระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริง โดยปกติไม่มีกำหนดระยะเวลา แต่ในทางปฏิบัติหากเป็นกรณีกระแสสังคม จะเร่งดำเนินการโดยเร็ว หลังเรียกทนายความผู้ถูกร้องเข้าให้ข้อมูล จะต้องมาพบภายใน 30 วัน สามารถเลื่อนได้ แต่ต้องมีเหตุสมควร
ส่วนโทษทางวินัยมีหลายระดับ ตั้งแต่ตักเตือน, พักใบอนุญาต สูงสุด 3 ปี โทษร้ายแรงที่สุด คือ ลบชื่อออกจากสภาทนายความฯ
นอกจากนี้ นายกสภาทนายความฯ ระบุว่า ทนายความสามารถแสดงความคิดเห็นประเด็นทางสังคมได้ แต่จะต้องคำนึงถึงความหมิ่นเหม่หรือสุ่มเสี่ยงผิดข้อบังคับตามระเบียบของสภาทนายความ และต้องตระหนักถึงความรับผิดชอบหากเป็นความผิด พร้อมยอมรับว่ากฎระเบียบของสภาทนายความที่มีมาตั้งแต่ปี 2529 จะต้องมีการพัฒนาปรับปรุงเชิงรุกเพื่อปรับมาตรฐาน มรรยาททนายให้เหมาะสมกับยุคสมัย.-สำนักข่าวไทย