30 ส.ค. – เปิดชีวิตหลังรับราชการของ “น้องแบม” ผู้เปิดโปงทุจริตโกงเงินคนจน ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่น
น.ส.ปณิดา ยศปัญญา หรือ น้องแบม อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้เปิดโปงทุจริตการเบิกจ่ายงบประมาณเงินสงเคราะห์ของผู้มีรายได้น้อย ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่น นำไปสู่การตรวจสอบงบประมาณเงินสงเคราะห์ของผู้มีรายได้น้อย ของหน่วยงานในสังกัดกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ทั่วประเทศ ปัจจุบันรับราชการที่ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ เขตพื้นที่ 4 หรือ ป.ป.ท.เขต 4 ตั้งอยู่เขตเทศบาลนครขอนแก่น
น้องแบมเล่าถึงชีวิตการทำงานว่า ป.ป.ท.เขต 4 มีพื้นที่รับผิดชอบ 12 จังหวัดภาคอีสานตอนบน ตำแหน่งของตนคือ “นักวิชาการยุติธรรมปฏิบัติการ” หลังรับราชการชีวิตดีขึ้น มีเพื่อนร่วมงาน และ หัวหน้าที่ดี หน้าที่ของตนคือ ออกอบรม สัมมนา ให้ความรู้หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในเรื่องของการต่อต้านการทุจริต เป็นการสร้างภูมิคุ้มกัน, ป้องปรามไม่ให้เกิดการทุจริต ตนได้เป็นวิทยากรบ้าง และบอกเล่าประสบการณ์ของตน ที่ผ่านมาเคยมีผู้มาขอคำแนะนำเรื่องการร้องเรียนทุจริต ส่วนใหญ่ผู้ร้องเรียนจะกังวลเรื่องผลกระทบที่จะตามมา ไม่ว่าจะเรื่องความเป็นอยู่ หน้าที่การงาน ตนก็จะให้คำแนะนำ
น้องแบมได้เล่าถึงความกดดันที่เผชิญช่วงพบการทุจริตและต้องการร้องเรียน ก่อนจะเปิดโปงกดดันนานเกือบ 1 ปี เคยท้อ แต่พ่อแม่คือกำลังใจ และต้องการช่วยเหลือผู้ยากไร้ จึงเดินหน้าร้องเรียน จนเกิดการตรวจสอบ วันนี้ตนภูมิใจดีใจที่เปิดโปงความความจริงได้ ซึ่งการต่อต้านการทุจริตเป็นเรื่องที่เราต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ การทุจริตคอร์รัปชันยังปราบไม่หมด ยังต้องการคนปราบการทุจริต
ส่วนสิ่งที่ตั้งใจอยากทำอนาคต น้องแบม กล่าวว่า อนาคตยังไม่แน่นอนว่าจะได้ย้ายไปเป็นนักสืบหรือไม่หรือเป็นนักวิชาการอยู่ แต่วันนี้ขอทำหน้าที่ให้ดีที่สุด
ในประเด็น “เชื่อหรือไม่ การทำดีจะมีคนออกมาปกป้อง” น้องแบม กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ไม่เชื่อ แต่ปัจจุบันเชื่อ เพราะมีโซเชียลมีเดีย การทำอะไรลงไปทุกคนเห็นหมด โลกโซเชียลรวดเร็ว สังคมรวดเร็ว ถ้าเราทำดีต้องมีคนปกป้องเราแน่นอน คนทำดีต้องได้ดี และโซเชียลมีเดีย สังคมก็จะช่วยกันตรวจสอบ
น้องแบมยังให้คำแนะนำในเรื่องการร้องเรียนการทุจริตไม่ให้ผู้ร้องเรียนได้รับผลกระทบว่า สามารถร้องเรียนได้กับ ป.ป.ช., ป.ป.ท., ศูนย์ดำรงธรรม การร้องเรียนควรมีหลักฐานที่ชัดเจน หลักฐานอาจไม่ต้องครบก็ได้ การร้องเรียนสามารถปกปิดชื่อผู้ร้องเรียนแต่ควรให้เบอร์โทรศัพท์ติดต่อไว้เพื่อให้เจ้าหน้าที่ติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติม และผู้ร้องเรียนไม่ต้องกลัวอันตรายเพราะมีกฎหมายคุ้มครองพยาน .- สำนักข่าวไทย


