กรุงเทพฯ 27 ก.ค.- บอร์ด กกพ.มีมติขึ้นค่าไฟฟ้าเอฟทีงวดใหม่ (ก.ย.-ธ.ค.65) อัตราต่ำสุดใน 4 ทางเลือก โดยขึ้นอีก 68.66 สตางค์ เป็นอัตราที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้ารวมค่าไฟฐานเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 4.72 บาทต่อหน่วย กรณีใช้ไฟฟ้า 1,000 หน่วย/เดือน ค่าไฟฟ้าจะขึ้น 15%
สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) แจ้งว่า จะมีการแถลงแถลงข่าว “การพิจารณาค่าเอฟที สำหรับเดือนกันยายน – ธันวาคม 2565” ในวันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม 2565 หลังจาก คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) วันนี้ (27 ก.ค.) เห็นชอบขึ้นอัตราต่ำที่สุด จากที่จัดรับฟังความเห็น 4 อัตรา โดยเลือกอัตราเอฟทีใหม่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ขึ้นจากงวดปัจจุบัน 68.66 สตางค์ต่อหน่วย โดยอัตรานี้ ก็จะเป็นการสะท้อนต้นทุนเชื้อเพลิงเท่านั้น ยังไม่มีการชำระหนี้ ค่าเชื้อเพลิง กฟผ. ที่ราว 83,010 ล้านบาทแต่อย่างใด ตามที่ กฟผ.ทำหนังสือถึง กกพ. ว่า จะรับภาระ โดยจะกู้เงินมาเสริมสภาพคล่องไปก่อน
สำหรับกรณี ค่าเอฟที 93.43 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมค่าไฟฟ้าฐานแล้ว ค่าไฟปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.72 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 17 และเอฟทีที่เพิ่มขึ้นจะมีผลกระทบต่อภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าที่ กฟผ.จะต้องรับภาระต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นแทนผู้ใช้ไฟฟ้า และผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัย ในกรณีใช้ไฟฟ้า 100 หน่วยต่อเดือน ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นราว 19% ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 4.34 บาทต่อหน่วย จ่ายค่าไฟฟ้า 434.68 บาท กรณีใช้ไฟฟ้า 300 หน่วยต่อเดือน ค่าไฟฟ้าจะขึ้น 17% หรือเฉลี่ย 4.80 บาทต่อหน่วย จ่ายค่าไฟฟ้า ราว 1,439 บาท และกรณี 1,000 หน่วยต่อเดือน ค่าไฟฟ้าจะขึ้น 15% หรือค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 5.17 บาทต่อหน่วย จ่ายค่าไฟราว 5,100 บาทต่อเดือน
อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงพลังงาน มีนโยบายในการลดค่าไฟฟ้าต่อประชาชน โดยจะมีการนำเสนอของบประมารภาครัฐมาสนับสนุนต่อไป เช่น อาจจะใช้นโยบายเช่นเดียวกับปัจจุบัน คือ ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ค่าไฟฟ้าเอฟทีจะเท่ากับงวดที่ผ่านๆ มา
ทั้งนี้ สำนักงาน กกพ. ได้เปิดรับฟังความคิดเห็น ค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) สำหรับงวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 (ระยะเวลารับฟัง 12 ก.ค.-25 ก.ค.65) โดยมี 4 อัตรา คือ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย, 139.13 สตางค์ต่อหน่วย, 116.28 สตางค์ต่อหน่วย และ 236.97 สตางค์ต่อหน่วย โดยทั้ง 4 อัตรานี้ เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานของประเทศที่ 3.78 บาทต่อหน่วยแล้ว ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยของประเทศจะอยู่ที่ 4.72-6.12 บาทต่อหน่วย ซึ่งนับเป็นอัตราสูงสุดของประเทศ โดยทั้ง 4 อัตรานั้น หากประมาณการต้นทุนแท้จริงแล้ว อัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ในช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 พุ่งสูงถึง 236.97 สตางค์ต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 212.20 สตางค์ต่อหน่วย โดยอัตรา 93.43 สตางค์ต่อหน่วย เป็นการสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ส่วนอีก 3 อัตรา เป็นการรวมชำระหนี้ กฟผ. ทั้งชำระทั้งหมดทันที และการชำระในช่วง 1-2 ปี .-สำนักข่าวไทย