กรุงเทพฯ 22 ก.ค.-ผู้ว่าการ ธปท. คาดว่า จีดีพี ปี 2565 และ 2566 จะเติบโต 3.3% และ 4.2% นักท่องเที่ยวต่างชาติฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดไว้ จากต้นปีมีเกิน 2 ล้านคน คาดทั้งปีมีนักท่องเที่ยว 6 ล้านคน ผู้ว่างงานและเสมือนว่างงาน ปี 2565 คาดจะมีราว 2.5 ล้านคน เงินเฟ้อทั่วไปปีนี้ คาดอยู่ที่ 6.2% โดยเดือนมีนาคม คาดไว้ 4.9%
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยในงานพบปะสื่อมวลชน มีท เดอะ เพรส ในหัวข้อทำอย่างไรให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ไม่สะดุด ว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันอยู่ในช่วงฟื้นตัวชัดเจนขึ้น แต่ยังไม่ทั่วถึง โดยคาดว่า จีดีพี ปี 2565 และ 2566 จะเติบโต 3.3% และ 4.2% นักท่องเที่ยวต่างชาติฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดไว้ จากต้นปีมีเกิน 2 ล้านคน ทั้งปีคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยว 6 ล้านคน ผู้ว่างงานและเสมือนว่างงาน ปี 2565 คาดว่าจะมีราว 2.5 ล้านคน เงินเฟ้อทั่วไป คาดว่าปีนี้จะอยู่ที่ 6.2% โดยเดือนมีนาคม คาดไว้ 4.9%
ทั้งนี้ เครื่องชี้เศรษฐกิจไตรมาส 2 ของปี 2565 สะท้อนการฟื้นตัวต่อเนื่อง ดัชนีการบริโภคภาคเอกชน เติบโต 9.9% มูลค่าการส่งออกสินค้า เติบโต 9.7% รายได้แรงงานนอกภาคเกษตร ไม่รวมมาตรการรัฐ เติบโต 10.3% และรายได้เกษตรกร ไม่รวมมาตรการรัฐ เติบโต 16.7%
ผู้ว่าการ ธปท. ยังกล่าวด้วยว่า สิ่งที่อยากเห็นในบริบทเศรษฐกิจแบบนี้ เป้าหมายสำคัญ คือ เศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง ไม่สะดุด เพราะเงินเฟ้อสูงส่งผลต่อความกินดีอยู่ดีของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และเราจะทำอย่างไรเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย โดยสิ่งที่ต้องนำมาใช้ คือ 1. นโยบายการเงิน เพื่อช่วยสร้างมั่นใจว่าเงินเฟ้อจะไม่เพิ่มขึ้นอีก การขึ้นดอกเบี้ยที่จะไม่ทำให้เศรษฐกิจสะดุด 2. มาตรการทางการเงิน ปัจจุบันฐานะของสถาบันการเงินแข็งแกร่งเพียงพอรองรับความเสี่ยงในระยะข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าการ ธปท.ยังได้ชี้แจงประเด็นความเข้าใจผิดเกี่ยวกับส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย ค่าเงินบาท เงินทุนเคลื่อนย้าย และเงินทุนสำรอง ด้วยว่า หลายเรื่องไม่ตรงกับความเป็นจริง เช่น ส่วนต่างดอกเบี้ยไทยกับสหรัฐที่กว้างขึ้นเป็นปัจจัยเดียวที่ทำให้เงินทุนของไทยไหลออกนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะส่วนต่างดอกเบี้ยไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่มีผลต่อเงินทุนแต่ยังมีปัจจัยอื่น เช่น การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพของเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นของนักลงทุนซึ่งตั้งแต่ต้นปีไทยยังมีเงินทุนไหลเข้าสุทธิ ขณะที่ประเทศที่ดอกเบี้ยสูงกว่าสหรัฐ เช่น อินเดียและอินโดนีเซีย ยังเผชิญเงินทุนไหลออก
ส่วนเรื่องเงินบาทอ่อนค่าลงมากเพราะเงินทุนไหลออกนั้น ก็ไม่เป็นความจริงเพราะตั้งแต่ต้นปี 2565 เงินบาทอ่อนค่าจากยูเอสดอลลาร์แข็งค่าเป็นหลักและปกติเงินบาทมักเคลื่อนไหวจากปัจจัยภายนอก คือ ทิศทางสกุลเงินต่างประเทศถึง 86% นอกจากนี้ช่วงที่มีเงินทุนไหลเข้าไทย เงินบาทก็อ่อนค่าได้
เงินทุนสำรองลดลงมากเพราะต้องใช้พยุงค่าเงินบาท ก็ไม่เป็นความจริง เพราะการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนสำรองมาจาก 3 ปัจจัย คือ ผลตอบแทนการลงทุน การตีมูลค่าของสินทรัพย์ และการดำเนินนโยบายค่าเงินของ ธปท.
ที่สำคัญคือ เงินทุนสำรองที่ลดลงจะกระทบเสถียรภาพการเงินไทยจนเกิดวิกฤตแบบปี 2540 นั้น ก็ไม่เป็นความจริง โดยปัจจุบันเงินทุนสำรองของไทยล่าสุดอยู่ที่ 2.47 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 51% ของจีดีพี สูงเป็นอันดับ 12 และอันดับ 6 ของโลกตามลำดับ นอกจากนี้ เสถียรภาพการเงินไทยยังมีความแข็งแกร่งเพิ่มขึ้นมากจากปี 2540.-สำนักข่าวไทย