นนทบุรี 18 ก.ค.-หลังนายกสมาคมค้าส่งและค้าปลีกไทยออกมาเปิดเผยว่ากระทรวงพาณิชย์ได้อนุมัติให้สินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อ”มาม่า”ให้ปรับขึ้นราคาต่อซองจาก 6 บาทเป็น 7 บาทมีผล 1 สค นี้นั้น โดยทางที่ปรึกษารัฐมนตรีพาณิชย์ยืนยันกรมการค้าภายในยังไม่อนุมัติให้ขึ้นยังอยู่ในช่วงที่ตรึงสินค้าอยู่และมีการติดตามดูต้นทุนทุกกลุ่มสินค้าอย่างใกล้ชิด
ผู้สื่อข่าวรายงานหลังจากนายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่งและค้าปลีกไทยออกมาเปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ได้รับแจ้งอย่างไม่เป็นทางการจากผู้ผลิตและจัดจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อ “มาม่า” จะขึ้นราคาอีก 1 บาท/ซองจาก 6 บาท เป็น 7 บาท มีผลวันที่ 1 สิงหาคมนี้
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า นายกค้าส่งฯ ไม่มีอำนาจขึ้นราคาตามอำเภอใจ โดยมีเพียงการเสนอ การขอ การทำเรื่องถึงกรมการค้าภายใน ดังนั้น เอกชนจะขึ้นเองนั้นไม่ได้ ส่วนทางนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ยังให้กรมการค้าภายในตรึงราคาสินค้าดังกล่าวไปก่อน และได้คำนวณต้นทุนสินค้าทุกกลุ่มตลอดเวลา ทำให้ ณ เวลานี้ กรมการค้าภายในรายงานว่ายังไม่ให้ขึ้นสินค้าใดๆทั้งสิ้น
นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายในกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ยังไม่อนุญาตให้ขึ้นไม่ว่าจะเป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรามาม่า ที่ระบุว่าจะปรับขึ้นราคาจำหน่ายปลีกซองละ 1 บาท จากราคาซองละ 6 บาท เป็น 7 บาท โดยอ้างมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2565 เพราะต้นทุนการผลิตและต้นทุนค่าขนส่งปรับสูงขึ้น เช่น ราคาแป้งสาลี ราคาน้ำมันปาล์ม และราคาน้ำมันดีเซล เป็นต้นนั้น
อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้รับหนังสือแจ้งการปรับราคาอย่างเป็นทางการจากบริษัทผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายด้วย และกรมการค้าภายใน ยังคงเข้มงวดต่อมาตรการเชิงนโยบายจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ต้องการให้ดูแลผู้บริโภคและประชาชนอย่างถึงที่สุด ที่ผ่านมามีบริษัทผู้ผลิตและผู้แทนจำหน่ายได้มีการยื่นขอปรับขึ้นราคาจำหน่ายปลีกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาราคาโดยการคำนวณต้นทุนอย่างเป็นธรรมต่อทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคให้เกิดความสมดุลและยังไม่มีการอนุญาตให้ผู้ผลิตรายใดปรับขึ้นราคา
“โดยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นสินค้าควบคุมที่ต้องขออนุญาตปรับราคาจำหน่ายปลีก หากมีการปรับราคาจำหน่ายปลีกโดยพละการถือเป็นการกระทำความผิดกฎหมายและมีโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 กรมฯ รับทราบและเข้าใจถึงสถานการณ์ต้นทุนสินค้าที่มีการปรับสูงขึ้นจริง ทั้งในส่วนของราคาวัตถุดิบและราคาน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าขนส่งโดยตรง สำหรับเรื่องการพิจารณาอนุญาตให้ปรับราคาสินค้าจะต้องพิจารณาถึงต้นทุนเป็นรายกรณีไป และต้องพิจารณาอย่างรอบคอบสอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง และไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้บริโภคมากนัก โดยเฉพาะสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายก็ต้องสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ สินค้าต้องไม่ขาดแคลน ทั้งนี้ กรมการค้าภายในจะใช้ทั้งมาตรการทางกฎหมายและมาตรการทางบริหารเพื่อดูแลให้ความเป็นธรรมและสมดุลสำหรับทุกฝ่ายต่อไป ” อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าว.-สำนักข่าวไทย