กรุงเทพฯ 9 ก.ค.- กรมทางหลวง เผย “ถนนตีเส้นซิกแซก” ที่ จ.ศรีษะเกษ ถือเป็นโครงการนำร่อง 1 ในประเทศไทย เพื่อยกระดับความปลอดภัยทางคนเดินข้าม
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่าจากข่าวการสูญเสียชีวิตของบุคลากรทางการแพทย์ ขณะเดินข้ามถนนในกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้องจากทุกหน่วยงาน ร่วมกันหาทางป้องกัน และแก้ไขปัญหา ซึ่งสาเหตุหลักของกรณีนี้ คือ ความเร็วของรถที่เข้าสู่ทางคนเดินข้าม และการรับรู้ของผู้ขับขี่ล่วงหน้า ว่าจะมีทางข้ามถนน ซึ่งจากปัญหาดังกล่าวทางกรมทางหลวงจึงนำแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่ใช้กันในสากล มาทดลองนำร่องใช้กับทางหลวงขนาด 2 ช่องจราจรในจังหวัดศรีษะเกษ เป็นลักษณะการตีเส้นซิกแซก (Zigzag line) บนถนน
ทั้งนี้ ถนนดังกล่าวถือเป็นถนนทางหลวงขนาด 2 ช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 2127 ตอน ศิวาลัย – สำโรงเกียรติ บริเวณชุมชน บ.หลักหินใหม่ อ.ขุนหาญ ที่จังหวัดศรีษะเกษ ถือเส้นทางแรกในโครงการนำร่อง ที่มีการตีเส้นซิกแซก ซึ่งทางหมวดการทางและแขวงการทางจะทำการเก็บข้อมูลของการใช้งานทั้งก่อนและหลังการใช้งาน และจะนำมาวิเคราะห์และประเมินผลในทุกมิติ เพื่อพัฒนา แนวทางการปรับปรุงทางกายภาพและด้านอื่น ๆ ให้เกิดความปลอดภัยกับประชาชนสูงสุดในการข้ามถนนต่อไป
นายสราวุธ กล่าวต่อว่าการตีเส้น เขตทางเป็นการอำนวยความสะดวกการใช้งาน รวมถึงเพื่อความปลอดภัยต่อคนใช้รถและถนน ซึ่งสิ่งอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยนั้นจะมีหลายประเภท ทั้งตีเส้นซิกแซก (Zigzag line) ซึ่งเส้นซิกแซก เพื่อเตือนผู้ขับขี่ล่วงหน้าด้วยสี ตีเส้นบนผิวทางให้ตระหนักและลดความเร็วลงก่อนถึงทางคนเดินข้ามซึ่งเป็นรูปแบบที่ใช้กันในสากล เช่น กลุ่มประเทศในยุโรป สหราชอาณาจักร สิงคโปร์ ออสเตรเลีย เป็นต้น
นอกจากนั้น ยังมีเกาะยืนพักระหว่างการเดินข้าม (Refuge Island) จะช่วยให้ผู้ที่เดินช้าไม่จำเป็นต้องเดินข้ามถนนในครั้งเดียว และชุดป้ายทางข้ามชนิดสีเหลืองเขียวฟลูออเรสเซนต์ ที่เพิ่มความปลอดภัยให้กับคนเดินข้าม ซึ่งใช้กันแพร่หลายในต่างประเทศ ขณะเดียวกันยังมีไฟฟ้าส่องสว่างที่ส่องไปที่พื้นทางคนเดินข้ามโดยเฉพาะ รวมถึงการปรับปรุงกายภาพสองข้างทาง เพื่อให้ผู้ขับขี่รับรู้ถึงการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมสู่ช่วงเขตชุมชน.-สำนักข่าวไทย