แนะธุรกิจไทยเตรียมรับมือเศรษฐกิจขาลง

กรุงเทพฯ 5 ก.ค.- แนะธุรกิจไทย เตรียมรับมือเศรษฐกิจขาลง เผย 3 ฉากทัศน์ที่อาจเกิดขึ้น ทั้ง “ซอฟต์แลนดิ้ง” “StagFlation” และสงครามโลก พร้อมรับราคาน้ำมันพุ่ง-เงินเฟ้อสูง-จีดีพีติดลบ ด้าน “ไออาร์พีซี” ปรับตราสินค้า Polimaxx พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงเมกะเทรนด์พลังงาน


ในงานเสวนาออนไลน์ “POLIMAXX เจาะอนาคต เศรษฐกิจไทย” ที่ POLIMAXX หรือกลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี จากบริษัทไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) จัดขึ้น นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต เปิดเผยในหัวข้อ “Global and Domestic Economic Outlook 2022” ระบุว่า การพยากรณ์อนาคตทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องยาก แต่หากอยากทำนายอนาคต ให้มองย้อนหลังกลับไปจะพบว่าประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลก วนเวียนอยู่กับความโลภและความกลัว วนไปวนมา โดยมีอัตราดอกเบี้ย ราคาน้ำมัน และค่าเงิน เป็นปัจจัยหลัก

ปัจจุบันแม้สถานการณ์โควิดจะเริ่มคลี่คลาย แต่โลกยังต้องเผชิญกับเรื่องของ Geopolitical Risk หรือความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ราคาน้ำมัน และเงินเฟ้อ จึงอยากให้มองประวัติศาสตร์ย้อนหลังไป 500 ปี เพื่อเตรียมหาทางรับมือ โดยจะพบว่าฉากทัศน์ทางเศรษฐกิจที่เคยเกิดขึ้น มี 3 รูปแบบ รูปแบบที่ 1 กรณีเลวร้ายสุดครั้งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงปี 1939-1945 ราคาน้ำมันจากที่ราคา 0.65 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เคยปรับตัวสูงขึ้นถึง 1.22 ดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 72% เงินเฟ้อที่ระดับ 1.8% ปรับขึ้นเป็น 10.9% ขณะที่จีดีพีสหรัฐ จากที่โต 6.9% กลายเป็นติดลบ -1.0 %


รูปแบบที่ 2 เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากการจับคู่กันทำสงคราม ช่วงปี 1970-1979 ราคาน้ำมัน จาก 3 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล กลายเป็น 12 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล หรือเพิ่มขึ้น 400% เงินเฟ้อจากที่ระดับ 2.4% เพิ่มสูงขึ้นเป็น 6.2 % ขณะที่จีดีพี แม้จะโตได้ 2.3% แต่ลดลงจากระดับ 4.7% ส่วนรูปแบบที่ 3 คือหากเกิดซอฟต์แลนดิ้ง ราคาน้ำมัน จาก 75 ดอลลาร์สหรัฐ พุ่งแตะ 130 ดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 74% เงินเฟ้อจากระดับ 2.2% เพิ่มขึ้นเป็น 3.2% ขณะที่จีดีพี ลดลงจาก 3% เหลือ 2%

ทั้งนี้สำหรับประเทศไทย หากสถานการณ์ปัจจุบันพัฒนาเป็นแบบซอฟต์แลนดดิ้ง เศรษฐกิจจะชะลอตัวไปอีก 1-2 ปี จีดีพี จากที่เคยติดลบ 6.2% ในปี 2020 จากสถานการณ์โควิด จะค่อยๆ โตขึ้น ปีนี้อาจได้เห็นจีดีพี 2.8% และหากอาจเป็น 3.4% ในปี 2023 ส่วนเงินเฟ้อปีนี้อยู่ที่ 6.7% และลดลงเหลือ 2.5% ในปีหน้า แต่หากเกิด StagFlation เศรษฐกิจจะชะลอตัวยาวนาน 3-5 ปี จีดีพีปี 2023 จะเหลือแค่ 1.4% และเหลือ 1.0% ในปี 2023 ส่วนเงินเฟ้อปีนี้จะอยู่ที่ 7.5% และลดลงเหลือ 5% ในปีหน้า แต่หากเกิดสงครามโลก เศรษฐกิจจะถดถอยเป็นเวลามากกว่า 5 ปี จีดีพีจะปักหัวลง เหลือ -1% ในปี 2022 และ -8% ในปี 2023 ส่วนเงินเฟ้อจะพุ่งเป็น 7.5% ในปีนี้ และ10% ในปีหน้า

ดังนั้น จึงอยากฝากให้ผู้ประกอบการของไทยให้เตรียมพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น ทั้ง 3 ฉากทัศน์ โดยให้เน้นที่การพัฒนาประสิทธิภาพและประสิทธิผลขององค์กร, การมีแผนการลงทุนที่สามารถแบ่งโครงการและส่งมอบเป็นช่วงๆ , การบริหารหนี้ และสินค้าคงเหลือต้องไม่เยอะ , การใช้ข้อมูลทางเทคโนโลยีมาพัฒนากระบวนการภายใน สุดท้ายคือการวิจัยและพัฒนา ทั้งนี้เชื่อว่าจากนี้ไปหากธุรกิจยังสามารถเอาตัวรอดได้ จะกลับมาแข็งแกร่งอย่างแน่นอน


ด้าน จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บิทคัพ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ กล่าวในหัวข้อ Blockchain and Future Era โดยระบุว่า ขณะนี้หลายประเทศทั่วโลกกำลังให้ความสำหรับกับเรื่องของอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นในรอบ 40 ปี เช่น สหรัฐ มีอัตราเงินเฟ้อ อยู่ที่ราว 8% เยอรมัน อยู่ที่ราว 9% ส่วนไทย แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะต่ำกว่า สหรัฐ และเยอรมัน แต่ก็สูงสุดในเป็นประวัติการณ์ ซึ่งอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจถดถอยในระยะสั้น 6-18 เดือน ดังนั้น ภาคธุรกิจจะต้องวางแผนรับมือในระยะสั้น ด้วยการอย่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ส่วนในระยะยาว จะต้องเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ด้วยการลงทุนและศึกษาเรื่องของเทคโนโลยีใหม่ๆ ส่วนภาคประชาชน ในระยะสั้นก็จำเป็นต้องประหยัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นเพื่อรับมือกับอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง

ด้านนายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ได้ย้ำถึงทิศทางใหม่ของธุรกิจปิโตรเคมี โดยระบุว่าปัจจุบันธุรกิจต้องเผชิญกับความท้าทายหลายปัจจัย ทั้งปัญหาสงครามการค้า ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ฉุดกำลังซื้อของผู้บริโภค ความผันผวนของราคาพลังงาน การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และปัญหาโลกร้อน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจปิโตรเคมีต้องปรับตัว โดยไออาร์พีซี ได้ยกระดับผลิตภัณฑ์พอลิเมอร์ (Polymer) เป็นตราสินค้า (Brand) ใหม่ของ Polimaxx IRPC ให้สดใสและทันสมัยขึ้น แต่ยังคงรวบรวมผลิตภัณฑ์ภายใต้กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีทั้งหมดของบริษัทฯ ไว้ภายใต้ Brand ด้วยกัน เพื่อตอบสนองต่อความต้องการสินค้าของโลกในอนาคตที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไป เช่น เครื่องบิน ,ยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี) สถานีชาร์จไฟฟ้า, ชิ้นส่วนประกอบให้กับแบตเตอรี่ และอุปกรณ์สำหรับติดตั้งโซลาร์ลอยน้ำ

นอกจากนี้ยังเข้าไปลงทุนผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น การผลิตผ้า Melt Blown ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักสำหรับผ้าชั้นกรองหน้ากากอนามัย (PPE) หน้ากาก N95 และแผ่นกรองอากาศ รวมถึงผ้าสปันบอนด์ ที่ผลิตจากเม็ดพลาสติก PP (Polypropylene) ที่สามารถนำไปตัดเป็นชุด PPE รวมถึงการพิมพ์ 3 มิติ (3D Printing) ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศทำการศึกษา การทำไหมย่อยสลายได้ที่ให้สำหรับลิ้นหัวใจ เรียกได้ว่า ทุกธุรกิจของไออาร์พีซี ได้ถูกออกแบบและปรับตัวให้สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคและเทรนด์ของธุรกิจที่จะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคตไว้ครอบคลุมแล้ว.-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

มุกใหม่มิจฉาชีพ

มุกใหม่มิจฉาชีพ! ป่วนโทรแจ้ง ตร. เกิดเหตุร้ายที่บ้านเหยื่อ

อินฟลูฯ สาว สายทำอาหาร ถูกมิจฉาชีพอ้างเป็นตำรวจโทรหา แต่เธอไม่เชื่อ โดนท้าอีก 10 นาทีเจอกัน ปรากฏว่า มีตำรวจจาก 2 โรงพักบุกมาที่บ้านจริง

“วราวุธ” ระบุการแข่งขัน อบจ.-สุพรรณบุรี ไม่มีปัญหา

“วราวุธ” ระบุการแข่งขัน อบจ.-สุพรรณบุรี ไม่มีปัญหา บอกสนามใหญ่ ไม่เข้าไปก้าวก่ายสนามท้องถิ่น ซ้ายก็เพื่อน ขวาก็พวก

ครม.เคาะแจกเงินหมื่นเฟส 2 ผู้สูงอายุ 60 ปี

“จุลพันธ์” เผย ครม.เห็นชอบโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกลุ่มผู้สูงอายุ วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะดำเนินการทันก่อน 29 ม.ค.68 รวม 3 มาตรการ สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบ 1.4-1.5 แสนล้านบาท

ข่าวแนะนำ

ข่าวแห่งปี 2567 : รวมฉ้อโกง “ดารา-คนดัง” ไม่รอด

ตลอดปี 2567 ยังมีผู้คนตกเป็นเหยื่อของกลโกง มิจฉาชีพ ที่มาในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการลงทุนรูปแบบใหม่ๆ บางคนถึงขั้นสิ้นเนื้อประดาตัว และที่น่าตกใจเริ่มมีคนดังเข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีมากขึ้น

หมอชิต 2 คึกคัก ประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาฉลองปีใหม่

บรรยากาศการเดินทางหมอชิต 2 คึกคัก ประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยวในช่วงหยุดยาวปีใหม่ ด้าน รฟท. คาดผู้โดยสารเดินทางขาออกวันนี้ 1 แสนคน

รถเริ่มแน่น! สายเหนือ-อีสาน การจราจรชะลอตัว

ประชาชนทยอยเดินทางกลับภูมิลำเนา หยุดยาวปีใหม่ ถ.พหลโยธิน มุ่งหน้าสายอีสาน รถแน่น ส่วนถนนสายเอเชีย ขึ้นเหนือ รถเคลื่อนตัวได้ช้า