กรุงเทพฯ 14 มิ.ย. – SCB ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 เติบโตที่ 2.9% จากเดิม 2.7% จากการฟื้นตัวภาคท่องเที่ยว-บริการ-ภาคเกษตร แต่เงินเฟ้อเร่งตัวสูงสุดในรอบ 24 ปี คาดเงินเฟ้อทั้งปีอยู่ที่ 5.9% แนวโน้มส่งออกชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลก ฉุดรั้งเศรษฐกิจไทย
ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ แถลง “มุมมองเศรษฐกิจไทย ประจำไตรมาส 2 ปี 2565” ว่า EIC ปรับประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2565 ขึ้นเป็น 2.9% จากเดิม 2.7% ตามการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและภาคบริการผ่านการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวของไทยและการผ่อนคลายมาตรการผ่านแดนในหลายประเทศทั่วโลก โดย EIC ประเมินว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยรวม 7.4 ล้านคนในปีนี้ จากเดิม 5.7 ล้านคน อีกทั้ง กิจกรรมในภาคบริการในประเทศยังมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นจากการกลับออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น ตามอัตราการฉีดวัคซีนที่สูงและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคของภาครัฐ นอกจากนี้ภาคเกษตร จะมีส่วนช่วยสำคัญในการผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้ โดยผลผลิตภาคการเกษตรมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี อีกทั้ง ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มขยายตัวตามทิศทางราคาอาหารโลกที่เพิ่มสูงขึ้นจากปัจจัยด้านอุปทานที่ถูกกระทบจากสงครามในยูเครนและมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียจากชาติตะวันตก
อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายในประเทศที่ได้รับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและบริการซึ่งเป็นแหล่งจ้างงานสำคัญ รายได้ภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้น รวมถึงอุปสงค์คงค้าง (pent-up demand) จากกลุ่มผู้มีกำลังซื้อ จะยังมีแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่จะเร่งตัวสูงสุดในรอบ 24 ปี คาดว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีที่ 5.9% จากเดิม 4.9% ท่ามกลางการทยอยลดมาตรการอุดหนุนค่าครองชีพของภาครัฐ จะกดดันกำลังซื้อและการบริโภคภายในประเทศ รวมถึงชะลอการลงทุนในภาคธุรกิจลง ขณะที่การส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงในระยะต่อไปตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
เศรษฐกิจโลกในปี 2565 มีแนวโน้มปรับชะลอลงจากปีก่อนหลังเผชิญความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ สงครามรัสเซีย-ยูเครน, มาตรการล็อกดาวน์และควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มข้นจากนโยบาย Zero Covid ของจีนและการดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวของธนาคารกลางเศรษฐกิจหลัก ที่เร็วและแรงเพื่อสกัดเงินเฟ้อ กดดันการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและเพิ่มความผันผวนในภาคการเงินโลก โดย EIC คาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed funds rate) ในทุกการประชุมที่เหลือของปีนี้ (รวมขึ้นทั้งหมด 7 ครั้งตลอดปี 2565) และจะปรับขึ้นถึงครั้งละ 50 bps ใน 3 รอบการประชุมหน้า ส่งผลให้กรอบบนของอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ อาจแตะระดับ 3% ภายในสิ้นปี รวมถึงได้เริ่มกระบวนการลดขนาดงบดุลลงแล้วในเดือนมิถุนายน ดังนั้น EIC จึงปรับประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกลงมาอยู่ที่ 3.2% ในปี 2565 ชะลอลงจากปีก่อน ที่ขยายตัว 5.8% ตามการชะลอตัวลงพร้อมกันของกลุ่มเศรษฐกิจสำคัญ ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และจีน เศรษฐกิจโลกจึงเข้าสู่ห้วงเวลาแห่งความไม่สมดุลหลังวิกฤตโควิด และหลายเศรษฐกิจมีความเสี่ยงต่อการเข้าสู่ภาวะถดถอย (recession) เพิ่มมากขึ้น
ด้านนโยบายการเงิน EIC คาดว่า กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ 0.75% ในไตรมาสที่ 3/2565 จากเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงและเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นหลังเปิดประเทศ เพื่อลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพราคาและชะลอการเร่งตัวของเงินเฟ้อคาดการณ์ที่เริ่มปรับสูงขึ้น โดยเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะสั้น (1 ปีข้างหน้า) ของครัวเรือนปรับมาอยู่ที่ 3.1% ในเดือนพฤษภาคม 2565 ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทย (อัตราดอกเบี้ยหลังหักเงินเฟ้อ) ในปัจจุบันยังติดลบและอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ ซึ่งอาจส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มไหลออกจากไทย และเงินบาทมีโอกาสปรับอ่อนค่าลง
สำหรับค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่ต้นปี 2565 จนถึงวันที่ 7 มิ.ย. ที่ผ่านมา เงินบาทอ่อนค่าลงราว 3.6% ซึ่งเป็นการอ่อนค่าในทิศทางเดียวกันและใกล้เคียงกับสกุลอื่นในภูมิภาค EIC มองว่า ในระยะสั้นค่าเงินบาทจะยังเผชิญแรงกดดันจากการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed และความเสี่ยงของภาวะสงคราม ส่งผลให้เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าอยู่ในกรอบ 34.5-35.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในช่วงปลายปี 2565 จากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้น และดุลบัญชีเดินสะพัดที่จะปรับดีขึ้นตามดุลภาคบริการ โดย ณ สิ้นปี 2565 EIC คาดว่าเงินบาทมีแนวโน้มกลับมาแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในช่วง 33.5-34.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ .-สำนักข่าวไทย