กรุงเทพฯ 24 มี.ค.- รมว.เกษตรฯ ระบุ วัคซีนป้องกันโรคลัมปี สกินที่ผลิตโดยกรมปศุสัตว์ผ่านการทดลองประสิทธิผลในฟาร์มแล้ว พบว่า สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีเทียบเท่ากับวัคซีนจากต่างประเทศ เร่งขยายการผลิตในระดับกึ่งอุตสาหกรรมเพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงในราคาถูก คาดจะเริ่มใช้ได้ในเดือนพฤษภาคมนี้
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า กรมปศุสัตว์รายงานผลการทดสอบประสิทธิผลของวัคซีนป้องกันโรคลัมปี สกินในโค-กระบือที่สำนักเทคโนโลยีชีวภัณฑ์สัตว์และสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติร่วมกันพัฒนา โดยเป็นการทดลองในพื้นที่จริง (field trial) เมื่อเดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งฟาร์มโชคชัยอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมาให้ความร่วมมือในการทดสอบ ปรากฏว่า วัคซีนที่ผลิตโดยกรมปศุสัตว์ มีผลการกระตุ้นภูมิคุ้มกันอยู่ในเกณฑ์ดีเทียบเท่ากับวัคซีนที่ผลิตในต่างประเทศ
ทั้งนี้สั่งการเพิ่มเติมให้กรมปศุสัตว์เร่งขยายกำลังการผลิตวัคซีนจากระดับห้องปฏิบัติการ (Lab scale) สู่ระดับกึ่งอุตสาหกรรม (pilot scale) ด้วยเทคโนโลยีการผลิตในขวดเพาะเลี้ยงเซลล์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีดั้งเดิมของการผลิตวัคซีนโรคปากและเท้าเปื่อยซึ่งสำนักเทคโนโลยีชีวภัณฑ์สัตว์มีองค์ความรู้และมีบุคลากรที่ชำนาญสามารถรองรับปริมาณการผลิตวัคซีน 50,000-100,000 โด๊สต่อเดือน โดยตลอดกระบวนการผลิตใช้ระยะเวลาประมาณ 2 เดือนเศษ ดังนั้นจึงคาดว่า จะผลิตวัคซีนชุดแรกแล้วเสร็จช่วงประมาณกลางเดือนพฤษภาคม 2565 ในราคาต้นทุนโด๊สละ 9 บาท ซึ่งเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการป้องกันโรคให้แก่เกษตรกร ในช่วงปีแรก (มิ.ย. 2565 – พ.ค. 2566) สามารถผลิตวัคซีนได้ มีมูลค่า 6 ล้านบาท หากต้องนำเข้าจากต่างประเทศต้องใช้งบประมาณถึง 27 ล้านบาทซึ่งจะช่วยประหยัดงบประมาณแผ่นดินได้มากถึง 21 ล้านบาทและเป็นการสร้างความมั่นคงทางวัคซีนของไทยอีกด้วย
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวว่า สำนักเทคโนโลยีชีวภัณฑ์สัตว์และสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติซึ่งเป็นส่วนราชการภายในกรมปศุสัตว์ที่มีองค์ความรู้และมีบุคลากรที่มีความชำนาญในการผลิตวัคซีนร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตวัคซีนโรคลัมปี สกิน สำหรับใช้ป้องกันและควบคุมโรคกรณีฉุกเฉิน โดยเริ่มพัฒนาวัคซีนในระดับห้องปฏิบัติการ (Lab scale) มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564 สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติสามารถแยกไวรัสจากตัวอย่างสัตว์ป่วยในประเทศมาเพาะเลี้ยงในห้องทดลองได้สำเร็จ แล้วส่งหัวเชื้อไวรัสต่อให้สำนักเทคโนโลยีชีวภัณฑ์สัตว์นำมาขยายปริมาณไวรัสในเซลล์เพาะเลี้ยง และผลิตเป็นแอนติเจนที่หมดฤทธิ์ในการก่อโรคจากนั้นได้ทดลองผลิตเป็นวัคซีน 2 สูตรได้แก่ วัคซีนเชื้อตายในรูปแบบชนิดน้ำและวัคซีนเชื้อตายชนิดน้ำมัน ผลการทดลองในสัตว์ตามวิธีมาตรฐานการผลิตวัคซีน แสดงให้เห็นว่า วัคซีนทั้ง 2 สูตรมีความปลอดภัยไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ในสัตว์ โดยวัคซีนชนิดน้ำมันให้ความคุ้มโรค 100% สูงกว่าชนิดน้ำที่ให้ความคุ้มโรค 80% นอกจากนี้วัคซีนชนิดน้ำมันยังให้ความคุ้มโรคต่อเนื่องจนถึงเดือนที่ 7 ซึ่งกรมปศุสัตว์จะทดลองความคุ้มโรคต่อไปอีกจนครบ 12 เดือน
ขณะนี้กำลังขยายกำลังการผลิตวัคซีนจากระดับห้องปฏิบัติการ (Lab scale) สู่ระดับกึ่งอุตสาหกรรม (pilot scale) ตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำไปใช้ป้องกันโรคให้โค-กระบือโดยเร็ว นอกจากนี้กรมปศุสัตว์กำลังศึกษาความเป็นไปได้เพื่อขยายกำลังการผลิตวัคซีนโรคลัมปี สกิน เชื้อตาย ชนิดสื่อน้ำมัน โดยใช้เทคโนโลยี large scale roller หรือ Microcarrier ให้สามารถผลิตได้เดือนละ 5 แสน ถึงกว่า 1 ล้านโด๊ส ซึ่งจะทราบผลการศึกษาในช่วงกลางปี 2566 หากกำลังการผลิตเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด จะสามารถผลิตวัคซีนได้เพียงพอต่อความต้องการใช้สำหรับการควบคุมและป้องกันภายในประเทศ รวมถึงสัตว์นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งช่วยลดการนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศได้มากถึงปีละ 8 ล้านโด๊ส สามารถประหยัดงบประมาณถึง 360 ล้านบาท ตลอดจนสามารถส่งขายให้กับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนได้อีกด้วย ที่สำคัญการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึงจะนำไปสู่การกำจัดโรคลัมปี สกิน ให้หมดไปจากประเทศไทยได้อย่างถาวรในอนาคต
สำหรับโรคลัมปี สกิน ในโค-กระบือ (Lumpy Skin Disease) : LSD) ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ในไทย พบเป็นครั้งแรกที่อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 29มีนาคม 2564 ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้ร่วมกับทุกภาคส่วนได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงเกษตรกรและประชาชนดำเนินมาตรการควบคุมโรค 5 มาตรการสำคัญได้แก่
1. ควบคุมการเคลื่อนย้าย
2. เฝ้าระวังการเกิดโรคอย่างใกล้ชิด
3. ป้องกันและควบคุมแมลงพาหะนำโรค
4. รักษาสัตว์ป่วยตามอาการ
5. การใช้วัคซีนควบคุมโรค
ทั้งนี้วัคซีนที่ใช้ในการป้องกันโรคที่ผ่านมา จำเป็นต้องนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศ ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้นำเข้า 5.3 ล้านโด๊ส ใช้งบประมาณสนับสนุนไปกว่า 160 ล้านบาท ส่วนภาคเอกชน สมาคม และกลุ่มเกษตรกรนำเข้ามาอีกประมาณ5 แสนโด๊ส มูลค่าประมาณ 22.5 ล้านบาทซึ่งรวมเป็นมูลค่ากว่า 180 ล้านบาท.-สำนักข่าวไทย