กรุงเทพฯ 18 มี.ค.-โฆษกรัฐบาล เผย นายกฯ ขอบริษัทประกันภัย เร่งจ่ายค่าประกันภัยโควิด-19 เพื่อผู้เอาประกันภัยได้รับความคุ้มครองตามสิทธิ
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงใยประชาชนที่ร้องเรียนกรณีบริษัทประกันภัยบางแห่งจ่ายเคลมประกันภัยโควิด-19 ล่าช้า กำชับหน่วยงานกำกับให้ติดตามดำเนินการในเรื่องดังกล่าวโดยเร่งด่วน เพื่อให้ประชาชนผู้เอาประกันภัยได้รับความคุ้มครองตามสิทธิประโยชน์ ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย เพื่อไม่ให้เป็นการซ้ำเติมประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน
โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้แจงผู้เคลมประกันรักษาตัวแบบ HI – CI – Hotel Isolation ให้อนุโลมจ่าย “ค่ารักษาพยาบาล-ค่าชดเชยรายวัน/รายได้” เพื่อลดข้อพิพาทและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้เอาประกันภัยที่เจ็บป่วยจากการติดเชื้อโควิด เตรียมออกเป็นคำสั่งนายทะเบียนฯ มีผลบังคับใช้ต่อไป โดยให้มีการอนุโลมการจ่าย ดังนี้
1. การจ่ายค่ารักษาพยาบาล กรณีรักษาตัวแบบ Home Isolation (HI) แบบ Community Isolation (CI) หรือแบบ Hotel Isolation กรณีที่กรมธรรม์ประกันภัยมีความคุ้มครองแบบผู้ป่วยนอกเพียงอย่างเดียว ให้อนุโลมจ่ายค่าใช้จ่ายตามที่เกิดขึ้นจริงไม่เกินวงเงินความคุ้มครองแบบผู้ป่วยนอก หรือกรณีที่กรมธรรม์ประกันภัยมี และไม่เกิน 12,000 บาท
2. การจ่ายค่าชดเชยรายวันหรือค่าชดเชยรายได้ กรณีรักษาตัวแบบ Home Isolation (HI) เฉพาะกรณีผู้เอาประกันภัยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งมีผลตรวจโดยวิธี RT-PCR และมีปัจจัยเสี่ยงข้อใดข้อหนึ่งที่จะต้องเข้ารักษาตัวเป็นผู้ป่วยในในสถานพยาบาล แต่ไม่มีสถานพยาบาลรองรับ ดังต่อไปนี้ อายุมากกว่า 60 ปี โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) และโรคปอดเรื้อรังอื่น ๆ โรคไตเรื้อรัง (CKD) โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคหัวใจแต่กำเนิด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ ภาวะอ้วน (น้ำหนักมากกว่า 90 กก. หรือ BMI ตั้งแต่30 กก./ตร.ม. ขึ้นไป) ตับแข็ง ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ และ lymphocyte น้อยกว่า 1,000 เซลล์/ลบ.มม. อย่างไรก็ตาม คปภ. จะนำหลักเกณฑ์ดังกล่าวไปออกเป็นคำสั่งนายทะเบียนเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 วันนี้ พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ รวม 27,071 ราย จำแนกเป็น ผู้ป่วยจากในประเทศ 27,022 ราย ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 49 ราย ผู้ป่วยสะสม 1,079,734 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) หายป่วยกลับบ้าน 21,522 ราย หายป่วยสะสม 879,997 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) ผู้ป่วยกำลังรักษา 230,603 ราย เสียชีวิต 80 ราย จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบ รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 1,391 ราย เฉลี่ยจังหวัดละ 18 ราย อัตราครองเตียง ร้อยละ 27.1 ขณะที่ยอดการฉีดวัคซีนโควิด-19 วันนี้ รวมฉีดสะสม อยู่ที่ 126,937,886 โดส เข็มที่ 1 ฉีดสะสม 54,725,564 โดส เข็มที่ 2 ฉีดสะสม 50,055,180 โดส เข็มที่ 3 ฉีดสะสม 20,232,148 โดส และเข็มที่ 4 ฉีดสะสม 1,924,994 โดส.- สำนักข่าวไทย