กรุงเทพฯ 10 มี.ค.-สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติแจ้งราคาสุกรขุนหน้าฟาร์มซึ่งปรับตัวขึ้นเนื่องจากต้นทุนอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น ด้านสมาคมผู้เลี้ยงไก่ตัดพ้อ กระทรวงพาณิชย์ขอภาคปศุสัตว์มากเกินไปที่ให้ตรึงราคาเนื่องจากแบกภาระต้นทุนต่อเนื่อง โดยสงครามรัสเซีย-ยูเครนยิ่งทำให้สถานการณ์ย่ำแย่
สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ รายงานข้อมูลสภาวะตลาดสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม วันพระที่ 10 มีนาคม 2565 โดยราคาสุกรขุนหน้าฟาร์มปรับขึ้นเล็กน้อยจาก 86-88 บาทเป็น 88-91 บาทต่อกิโลกรัมซึ่งเป็นไปตามแรงกดดันของต้นทุนอาหารสัตว์ แต่เชื่อว่า ผู้บริโภคเริ่มรับราคาเนื้อสุกรในปัจจุบันมากขึ้น ห้างค้าจัดส่วนต่างราคาตามความต้องการของตลาดได้ดี รวมถึงสร้างราคาชิ้นส่วนทางเลือกที่สนองนโยบายรัฐ แต่ต้นทุนอาหารสัตว์ ค่าพลังงานน้ำมันเพิ่มเป็นรายวัน กระทบทั้งต้นทุนการผลิตและต้นทุนการขนส่ง แต่กลับถูกภาครัฐจับตาราคาจำหน่ายสุกรขุนหน้าฟาร์มและเนื้อสุกร
สำหรับราคาข้าวโพดหน้าโรงงานอาหารสัตว์สูงสุดที่กรุงไทยอาหารสัตว์ บ้านบึง ที่กิโลกรัมละ 13.05 บาท โดย CPF บางนาและเซ็นทาโกอยู่ที่ 13.00 บาท โดยปัจจัยที่ท้าทายภาคปศุสัตว์ไทยคือ สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนซึ่งทำให้มีปัญหาทั้งราคาน้ำมันและวัตถุดิบอาหารสัตว์เพราะรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์รายใหญ่ของโลก โดยมีปริมาณการส่งออกข้าวสาลีรวมกันราว 29% ของปริมาณการส่งออกทั่วโลก และมีสัดส่วนการส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงถึง 19% ของตลาดโลก ส่งผลให้ราคาข้าวโพดในประเทศปรับขึ้นต่อเนื่องแบบไร้การเข้ามาควบคุมราคา ทั้งๆ ที่ Corn CBOT เมื่อวานนี้ (9 มี.ค.) รอบส่งมอบเดือนพฤษภาคม 2565 ราคาย่อตัวมาปิดที่ 722.1 เซนต์/บุชเชล
ดร.ฉวีวรรณ คำพา นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์และประธานกรรมการบริหาร บริษัทในเครือฉวีวรรณ ผู้ส่งออกเนื้อไก่ไทยรายใหญ่ 1 ใน 5 ของไทยกล่าวว่า ต้นทุนอาหารสัตว์สูงขึ้นนาน 2 ปีแล้ว ยิ่งเผชิญวิกฤตความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ยิ่งส่งผลกระทบเป็นทวีคูณ โดยทั้งวัตถุดิบอาหารสัตว์ ค่าขนส่ง ค่าพลังงาน ค่าน้ำมันขึ้นกันเป็นรายวัน ขณะที่เกษตรกรไก่เนื้อเริ่มขายได้ไม่คุ้มทุน
นอกจากนี้ยังตัดพ้อว่า ที่ผ่านมาเกษตรกรภาคปศุสัตว์คุยง่าย กรมการค้าภายในขอความร่วมมือให้ตรึงราคาก็ยอม แม้ขนาดขายขาดทุนมีเสมอๆ จึงเป็นกลุ่มที่น่าเห็นใจที่สุดของเกษตรกรไทย ปัจจุบันสถาบันการเงินประเมินว่า กลุ่มปศุสัตว์ไทยเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงมากจึงไม่ปล่อยสินเชื่อให้เต็มที่
ทั้งนี้เสนอแนะให้นำเงินจากคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) มาช่วยเกษตรกรเหมือนช่วงที่มีการระบาดของไข้หวัดนกปี 2547-2548 โดยเป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ที่ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่เนื้อฟื้นตัวขึ้นมาและคืนเงินกู้ทั้งหมดแก่รัฐบาลครบทั้งหมด.-สำนักข่าวไทย