2 เดือนแรกปี 65 พบสัตว์ติดพิษสุนัขบ้า 42 ตัว

กรุงเทพฯ 9 มี.ค. – อธิบดีกรมปศุสัตว์ระบุ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 65 พบสุนัขติดเชื้อพิษสุนัขบ้าแล้ว 42 ตัวและคนตาย 1 คน ขณะนี้มีพื้นที่เฝ้าระวังโรค 5 จังหวัด จึงขอผู้เลี้ยงสัตว์ทุกคนเลี้ยง รัก รับผิดชอบ และพาสัตว์เลี้ยงทุกตัวไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าซึ่งจะทำให้ปลอดภัยทั้งคนและสัตว์


นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวว่า รายงานสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง7 มีนาคม 2565 พบสัตว์ตรวจพบให้ผลบวกต่อโรคพิษสุนัขบ้าสะสม 42 ตัวหรือคิดเป็น 0.6 ตัว/วัน เป็นการพบโรคในสุนัขร้อยละ 98 โดยส่วนใหญ่เป็นสุนัขที่ไม่มีและไม่ทราบประวัติการมีเจ้าของร้อยละ 89 ของสุนัขที่พบผลบวกทั้งหมด จังหวัดที่พบการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าสูงสุดคือ จังหวัดชลบุรี 29 ตัวอย่าง รองลงมาคือ จังหวัดสมุทรปราการ 3 ตัวอย่างซึ่งปัจจุบันพบมีรายงานผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าในปี พ.ศ.2565 แล้ว 1 รายในอ.สัตหีบจ.ชลบุรี โดยพื้นที่ที่พบการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย 1 เดือนย้อนหลังซึ่งยังอยู่ในระยะของการเฝ้าระวังโรค 5 จังหวัดได้แก่ ชลบุรี สงขลา สมุทรปราการ อุบลราชธานี และนครสวรรค์

โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) เกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งเป็นโรคอันตรายติดต่อได้ในคนและสัตว์ ติดได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดเช่น สุนัข แมว โค กระบือ หนู กระรอก กระต่าย ลิง ค้างคาว เป็นต้น ในประเทศไทย สัตว์ที่พบว่าติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าสูงสุดคือ สุนัข โรคนี้ติดต่อได้จากการสัมผัสกับน้ำลายจากการถูกกัด ข่วน หรือเลียบริเวณที่มีบาดแผลรอยถลอก รอยขีดข่วน หรือถูกเลียบริเวณเยื่อบุตา หรือปาก นอกจากนี้ การชำแหละซากสัตว์หรือรับประทานผลิตภัณฑ์ดิบจากสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าก็สามารถติดโรคได้ 


สำหรับอาการของโรคที่พบในสัตว์ มี 3 ระยะ ได้แก่ ระยะเริ่มแรก มีอาการประมาณ 2-3 วัน โดยสุนัขจะมีอารมณ์ และอุปนิสัยเปลี่ยนไปจากเดิม เริ่มมีไข้เล็กน้อย ม่านตาขยายกว้างกว่าปกติ กินข้าว กินน้ำ ลดลง ระยะที่ 2 เป็นระยะตื่นเต้น จะเริ่มมีอาการทางระบบประสาท สุนัขจะกระวนกระวาย ตื่นเต้น ไม่อยู่นิ่ง กัดแทะสิ่งของ สิ่งแปลกปลอม กัดทุกสิ่งไม่เลือก โดยไม่แสดงอาการเจ็บปวด เสียงเห่าหอนเปลี่ยนไป ตัวแข็ง บางตัวล้มชัก และระยะสุดท้าย เป็นระยะอัมพาตสุนัขจะมีคางห้อยตก ลิ้นมีสีแดงคล้ำห้อยออกนอกปาก น้ำลายไหล และไม่สามารถใช้ลิ้นได้ สุนัขบางตัวอาจแสดงอาการขยอกหรือขย้อน คล้ายมีของติดลำคอ ทรงตัวไม่ได้ เริ่มเป็นอัมพาต โดยอาการอัมพาตจะเริ่มจากขาหลัง และตายในที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่สัตว์จะตายภายใน 10 วันหลังแสดงอาการ แต่ในสุนัขบางตัวที่ติดเชื้ออาจแสดงอาการเซื่องซึม

ตาม พ.ร.บ.โรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535 ได้กำหนดให้เจ้าของสัตว์ต้องจัดการให้สัตว์เลี้ยงทุกตัว ได้แก่ สุนัข และแมวได้รับการฉีดวัคซีนจากสัตวแพทย์หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นหนังสือจากสัตวแพทย์หรือผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์เนื่องจากเป็นโรคที่รักษาไม่หาย โดยมีกำหนดเวลาให้เริ่มฉีดเข็มแรกที่อายุตั้งแต่ 2 – 4 เดือน จากนั้นกระตุ้นเข็มที่ 2 หลังจากเข็มแรก 1 เดือน และกระตุ้นซ้ำเป็นประจำทุกๆ ปี (ตามกำหนดปีละ 1 ครั้ง) สำหรับสัตว์กลุ่มอื่นๆ เช่น โคกระบือ สุกร ตามระยะเวลาที่กำหนดในกฎกระทรวงและควรเน้นในการป้องกันการเข้าออกของสัตว์อื่น โดยเฉพาะสุนัข ไปยังคอกเลี้ยงสัตว์นั้นๆ แต่ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าสัตว์ได้รับการฉีควัคซีนแล้ว หากถูกสัตว์สงสัยหรือสัตว์ป่วยด้วยโรคพิษสุนัขบ้ากัดหรือข่วน ควรได้รับการฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าโดยเร็วที่สุดหลังถูกกัดตามโปรแกรมที่เหมาะสมต่อไปด้วย 

อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวต่อว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดในการควบคุมและป้องกันโรคนี้คือ เจ้าของควรเลี้ยงสัตว์อย่างรับผิดชอบ ไม่ปล่อยวิ่งในที่สาธารณะ โดยขาดผู้ดูแล และไม่นำสัตว์เลี้ยงไปปล่อยทิ้งให้เป็นปัญหาต่อสังคมในอนาคต และควรระมัดระวังตนเอง โดยการไม่ไปแหย่ แย่ง หยิบ ยุ่งกับสัตว์จรจัด หรือสัตว์ที่ไม่ทราบประวัติวัคซีนแน่ชัด อันจะเป็นความเสี่ยงให้ได้รับโรคพิษสุนัขบ้า หรือหากถูกสุนัขหรือแมวที่สงสัยโรคพิษสุนัขบ้ากัด หรือข่วน ให้รีบล้างแผลด้วยสบู่ให้สะอาด ใส่ยาแผล หากเป็นไปได้จับสัตว์สงสัยกักขังไว้ และรีบพบแพทย์ เพื่อรับวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าหลังสัมผัสโดยเร็วที่สุด พร้อมทั้งแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่เพื่อทราบและเร่งดำเนินการตรวจสอบในพื้นที่ภายใน 12 ชั่วโมง


ตามพระปณิธาน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ที่มุ่งให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ปลอดจากโรคพิษสุนัขบ้า ไม่มีผู้เสียชีวิตและสัตว์จากโรคพิษสุนัขบ้า กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการร่วมมือในการควบคุม ป้องกันและกำจัดโรคพิษสุนัขบ้ากับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อย่างเข้มงวดต่อเนื่อง เนื่องจากโรคพิษสุนัขบ้าอันตรายติดต่อได้ทั้งสัตว์และคน เป็นแล้วไม่มีทางรักษา ทางที่ดีที่สุดคือการควบคุมและป้องกันการเกิดโรคเท่านั้น จึงขอความร่วมมือผู้เลี้ยงสัตว์ทุกคนเลี้ยงสัตว์อย่างรับผิดชอบ รักไม่ทอดทิ้ง และพาสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

ทั้งนี้ หากประชาชนต้องการข้อมูลหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่เว็บไซต์ สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์และสามารถติดตามสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าได้ที่ www.thairabies.net.-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

เหล้าเถื่อนลาว

เสียชีวิตรายที่ 6 คลัสเตอร์เหล้าเถื่อนในลาว

คลัสเตอร์เหล้าเถื่อนในลาว มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเสียชีวิตเพิ่มรายที่ 6 เป็นหญิงชาวออสเตรเลีย เสียชีวิตขณะรักษาตัวในไทย

ย้ายเจ้ากรมยุทธศึกษา ทบ.

ย้ายเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก ช่วยปฏิบัติราชการที่กองบัญชาการกองทัพบก หลังถูกร้องทำร้ายร่างกายผู้ใต้บังคับบัญชา พร้อมช่วยเจ้าทุกข์ย้ายหน่วยตามร้องขอ

ไฟไหม้โรงงานพัดลม เผาวอดเสียหายกว่า 50 ล้าน

ไฟไหม้โรงงานผลิตพัดลมรายใหญ่ จ.สมุทรสาคร ระดมรถดับเพลิงระงับเหตุ กว่า 5 ชม. จึงควบคุมไว้ได้ในวงจำกัด เบื้องต้นเสียหายกว่า 50 ล้านบาท

ข่าวแนะนำ

ภรรยาหมอบุญมอบตัว

“ภรรยา-ลูก” หมอบุญ อ้างถูกปลอมลายเซ็น ไม่เคยรู้การกระทำใดๆ

ทนายความภรรยา-ลูก หมอบุญ เผยถูกปลอมลายเซ็นเอกสาร ไม่เคยรับรู้การกระทำใดๆ ของหมอบุญ โดยภรรยาได้หย่าร้างกับหมอบุญ ก่อนปี 66

น้ำผุดเชียงดาว

น้ำใต้ดินผุดท่วมอ่วม “บ้านเรือน-พื้นที่เกษตร” อ.เชียงดาว

มวลน้ำมหาศาลผุดขึ้นจากใต้ดิน เอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่เกษตร และบ้านเรือนประชาชน หลายหมู่บ้าน ใน อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ระดับน้ำบางจุด ท่วมบ้านเกือบถึงหลังคา พื้นที่การเกษตรเสียหายกว่า 400 ไร่

เลือกตั้ง อบจ.

“แสวง” ลงพื้นที่สังเกตการณ์เลือกตั้ง นายก อบจ.อุดรธานี

“เลขาฯ แสวง” ลงพื้นที่ตรวจรับ-มอบอุปกรณ์เลือกตั้ง นายก อบจ.อุดรธานี พร้อมสังเกตการณ์เลือกตั้งพรุ่งนี้ (24 พ.ย.) วอนประชาชนออกมาใช้สิทธิ 8.00-17.00 น.