กรุงเทพฯ 9 ก.พ.- EXIM BANK หวังยกระดับ เอสเอ็มอีส่งออกบุกตลาดโลก 2,500 ราย/ปี มุ่งขยับสินเชื่อรวม 2 แสนล้านบาทช่วง 3 ปีข้างหน้า ท่ามกลางปัญหาโควิด-19 พลิกกลับทำกำไร 1,531 ล้านบาท สูงสุดรอบ 5 ปี
นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK แถลง “EXIM BANK : Thailand Game Changer” ในโอกาสครบรอบ 28 ปีธนาคาร พร้อมทั้งผลการดำเนินงานปี 2564 ว่า EXIM BANK ตั้งเป้าหมายมุ่งให้สินเชื่อในกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ธุรกิจ BCG เช่น กลุ่มพลังงานทดแทน อุตสาหกรรมสีเขียว (Green) รองรับกระแสรักษ์โลก อุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital) รองรับไลฟ์สไตล์สร้างความสะดวกสบาย ตอบสนองความต้องการผ่านการค้าออนไลน์ และอุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพ (Health) สอดรับกระแสการดูแลสุขภาพ เพราะกลุ่มเหล่านี้เติมโตได้ท่ามกลางโควิด-19 จึงให้สินเชื่อสัดส่วนร้อยละ 75
ในสัดส่วนอีกร้อยละ 25 มุ่งเน้นให้สินเชื่อในกลุ่มผู้ส่งออกเอสเอ็มอี เพื่อยกระดับเอสเอ็มอีให้เป็นผู้ส่งออกเพิ่มเติม 2,500 ราย/ปี เนื่องจากการส่งออกเริ่มมีแนวโน้มดีขึ้นตามตลาดโลก คาดว่าการส่งออกขยายตัวได้ร้อยละ 5 โดยต้องการคุมปัญหาหนี้ NPL ไม่เกินร้อยละ 3.5 EXIM BANK มุ่งเป้าหมายส่งเสริมผู้ส่งออกเอสเอ็มอีให้ได้ร้อยละ 5 จากผู้ส่งออก 1,000 ราย เนื่องจากปัจจุบัน มีผู้ส่งออกที่เป็นเอสเอ็มอีเพียง 3 หมื่นราย จากผู้ส่งออกทั้งหมด 3 ล้านบาท ในกลยุทธ์ผ่านเกมสร้างนักรบเศรษฐกิจ ต้องเร่งสร้างผู้ส่งออก SMEs ปัจจุบันมีเพียง 23,000 รายหรือไม่ถึงร้อยละ 1 ของ SMEs รวมเทียบกับเวียดนาม มีสัดส่วนถึงร้อยละ10
สำหรับการปล่อยสินเชื่อสายการบิน 7,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับทรัพย์สินของแบงก์ 1.5 แสนล้านบาท ยอมรับว่าเสี่ยง แต่เอ็กซิมแบงก์เข้าไป “ซ่อม” สายการบิน เพราะหวังว่าจะฟื้นกลับมาในช่วงไตรมาส 3-4 ในปี 65 สอดคล้องกับการท่องเที่ยว และยังได้ปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มพาณิชย์นาวี หลังจากประสบปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ แต่เมือสถานการณ์ส่งออกคลี่คลาย พาณิชย์นาวีจึงเริ่มดีขึ้น เมื่อขยับภารกิจเพิ่มอีกหลายด้าน จึงมุ่งหวังขยายสินเชื่อเพิ่มเป็น 2 แสนล้านบาท ในช่วงการครบรอบ 30 ปี และหากได้รับการสนับสนุนเพิ่มทุนจากภาครัฐอีก 10,000 ล้านบาท จะทำให้ EXIM BANK ปล่อยสินเชื่อช่วยเหลือผู้ส่งออกได้ถึง 4-5 แสนล้านบาท เพื่อขยับไปสู่การเป็นแบงก์ขยาดกลาง
ด้านผลการดำเนินงานปี 2564 ท่ามกลางปัญหาโควิด-19 แต่ EXIM BANK สามารถพลิกผลประกอบการกลับมาทำกำไรได้อีกครั้ง โดยมีกำไรสุทธิสูงถึง 1,531 ล้านบาท สูงสุดในรอบ 5 ปี สินเชื่อคงค้าง 152,773 ล้านบาท เติบโตเพิ่ม 17,545 ล้านบาทหรือร้อยละ 12.97 สูงสุดตั้งแต่เปิดดำเนินการมา 28 ปี ทำให้เกิดปริมาณธุรกิจหมุนเวียน 196,726 ล้านบาท เป็นธุรกิจของ SMEs 70,797 ล้านบาท หรือร้อยละ 35.99 ด้านบริการประกันการส่งออกและการลงทุนเท่ากับ 153,466 ล้านบาท สูงสุดตั้งแต่เปิดดำเนินการเช่นกัน โดยเพิ่มขึ้น 18,394 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.62 เมื่อเทียบกับปีก่อน EXIM BANK ได้ช่วยเหลือทั้งด้านการเงินและไม่ใช่การเงินแก่ผู้ประกอบการกว่า 12,800 ราย ด้วยวงเงินรวมประมาณ 73,800 ล้านบาท สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ NPL ร้อยละ 2.73 ลดลงจากร้อยละ 3.81 ณ สิ้นปี 63 มูลหนี้เสีย 4,166 ล้านบาท ตั้งสำรองผลขาดทุนเครดิต 11,670 ล้านบาท .-สำนักข่าวไทย