กรุงเทพฯ 4 ก.พ. – นักวิชาการเสนอรัฐบาลลดภาษีน้ำมัน 2 บาทต่อลิตร และควรปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน-ก๊าซหุงต้มให้เหมาะสม ชี้กองทุนน้ำมันฯ ไม่ควรรับภาระอุดหนุนราคาสูงเกินไป
นายพรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า จากวิกฤติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งแบกรับภาระอุดหนุนราคาพลังงานทั้งดีเซลและก๊าซหุงต้ม ประเมินว่าหากราคาน้ำมันโลกยังแพงต่อเนื่อง และหากวิกฤติความขัดแย้งไม่ว่าจะเป็นที่ตะวันออกกลาง ปัญหา ยูเครน-รัสเซียบานปลาย ก็อาจะทำให้เห็นราคาน้ำมันดิบแตะ 100 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล
ดังนั้น เงินกองทุนฯ ซึ่งในขณะนี้ติดลบกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท ก็จะไม่สามารถแบกภาระได้อีก ดังนั้น แนวทางที่เหมาะสมคือ รัฐบาลต้องควรลดภาษีน้ำมันสรรพสามิตทั้งดีเซลและกลุ่มเบนซิน ประมาณ 2 บาท/ลิตร จากอัตราปัจจุบันที่จัดเก็บเกือบ 6 บาทต่อลิตร หรือพิจารณาปรับเพิ่มเพดานดูแลดีเซลให้สูงเกินกว่า 30 บาท/ลิตร และเห็นด้วยกับกระทรวงพลังงานที่ต้องลดสัดส่วนผสมไบโอดีเซล (บี 100 ) ในดีเซลจากบี 7 หลือบี 5 ซึ่งจากราคาผลปาล์มที่สูงมาก ก็เชื่อว่าเกษตรกรจะเข้าใจภาวะลดค่าครองชีพของคนส่วนใหญ่ในประเทศ
“ จากภาวะปัญหาเสถียรภาพของรัฐบาลในขณะนี้ คาดว่าไม่น่าจะปรับเพิ่มเพดานดูแลดีเซลเกิน 30 บาท ดังนั้นวิธีการที่เหมาะสม คือ การลดภาษีน้ำมันลงมา โดยควรลดทั้งกลุ่มเบนซินและดีเซลเป็นการชั่วคราว 2 บาท/ลิตร เพื่อช่วยลดค่าครองชีพของประชาชน ” นายพรายพล กล่าว
น.ส.รสนา โตสิตระกูล อนุกรรมการ บริการสาธารณะ,สิ่งแวดล้อม,พลังงาน สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่จะใช้เงินกองทุนฯน้ำมันมาดูแลราคาดีเซล เพราะสุดท้ายแล้วประชาชนก็ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนฯพร้อมดอกเบี้ย รัฐบาลควรจะลดภาษีน้ำมัน โดยในส่วนของดีเซลปัจจุบันจัดเก็บ 5.99 บาท/ลิตร แต่น้ำมันเครื่องบิน ถูกลดภาษีเหลือ 20 สตางค์/ลิตร รัฐบาลอ้างช่วยเหลือผู้ประกอบการสายการบินจากผลกระทบโควิด-19 นอกจากนี้ ปัจจุบันผู้ใช้น้ำมันเบนซินกลับต้องจ่ายเงินดูแลดีเซลผ่านค่าการตลาดที่สูงขึ้น จึงถือว่าไม่เป็นธรรม
นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานควรปรับโครงสร้างราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้มใหม่ ให้เหมาะสม ลดภาระกองทุนน้ำมันฯ เช่น ก๊าซหุงต้มไม่ควรอิงราคาตลาดตะวันออกกลาง หรือ ซีพี ทำให้ต้นทุนสูงเกินไป ในขณะที่ราคาน้ำมันควรทบทวนเรื่องค่าดำเนินการ ค่าประกัน ค่าขนส่งที่เปรียบเทียบกับสิงคโปร์
“เข้าใจว่ากระทรวงการคลังไม่อยากลดภาษีน้ำมัน เพราะภาษีน้ำมันสร้างรายได้ราว 2แสนล้านบาทต่อปี แต่รัฐกลับนำเงินไปช่วยเรื่องลดค่าใช้จ่าย”คนละครึ่ง” ซึ่งช่วยเหลือคนได้น้อยกว่า การลดภาษีน้ำมันที่คนทั้งประเทศได้ประโยชน์ เมื่อลดภาษีเครื่องบินเหลือ 20 สต./ลิตร แล้วทำไมภาษีดีเซลจะลดลงให้เท่ากันไม่ได้” น.ส.รสนา กล่าว
ด้านนายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน หรือ สนพ. กล่วาว่ากระทรวงพลังงาน ติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิด โดยก็หวังว่า ปํญหาความตรึงเครียดทั้งในตะวันออกกลาง รวมถึงปัญหายูเครนและรัสเซียจะไม่บานปลาย หากยุติโดยเร็วและเมื่อสิ้นฤดูหนาว เมื่อสิ้นเดือนมีนาคม ความต้องการน้ำมันโลกเพื่อทำความอบอุ่นจะลดลง และราคาพลังงานก็น่าจะปรับลดลง
ทั้งนี้ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศนโยบายสำคัญ ตรึงราคาดีเซลและก๊าซหุงต้มจนถึงสิ้นเดือน มีนาคม 65 โดยตรึงราคาก๊าซหุงต้ม 318 บาท/ถัง ขนาด 15 กก. หลังจากตรึงมาแล้วประมาณ 2 ปี เพื่อช่วยลดผลกระทบประชาชนจากโควิด-19 โดยใช้กองทุนน้ำมันอุดหนุน 14.86 บาท/กก. และตรึงดีเซล 30 บาทต่อลิตร โดยใช้กองทุนน้ำมันอุดหนุน 3.79 บาทต่อลิตร และผู้ค้าก็ต้องช่วยดูแลด้วยค่าการตลาดที่ต่ำกว่าควรจะเป็นเหลือเพียง 60 สต.ต่อลิตร จากอัตราปกติแล้ว ไม่ควรต่ำกว่า 1.80 บาท/ลิตร
สำหรับปัจจัยที่มีผลกระทบต่อราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ดูเฉพาะดีเซล ก็มาจาก .ราคาน้ำมันตลาดโลกที่พุ่งขึ้น โดยราคาน้ำมันดีเซลตลาดสิงคโปร์ที่ไทยใช้อ้างอิง ราคาขยับขึ้นไปราว 100 ดอลลาร์/บาร์เรลแล้ว เงินบาทที่อ่านค่าที่อยู่ราวกว่า 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ก็ทำให้ราคาเนื้อน้ำมันดีเซลหน้าโรงกลั่นฯขยับไปอยู่ที่กว่า 21 บาทต่อลิตร ในขณะที่ราคาปาล์มขยับสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ผลปาล์มดิบอยู่ที่ราว 11-12 บาท/กก. และส่งผลให้ราคาไบโอดีเซล บี 100 อยู่ที่ 57.27 บาทต่อลิตร ก็มีผลทำให้เป็นต้นทุนในดีเซลบี 7 อยู่ที่ราว 3.20 บาทต่อลิตร จึงเป็นที่มาที่ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติลดส่วนผสมจากบี 7 เป็นบี 5 เริ่ม 5 ก.พ.นี้ จนถึง สิ้นเดือนมีนาคม ซึ่งเมื่อรวมกับอัตราภาษีที่เกี่ยวข้องแล้วก็จะช่วยลดต้นทุนราคาน้ำมันได้ราว 50-60 สตางค์ต่อลิตร โดยจะมีการรายงานเพื่อทราบต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายน้ำมันปาล์มแห่งชาติ (กนป.) ที่มีพล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในวันที่ 4 มี.ค. ท่ามกลาง เสียงคัดค้านจากชาวสวนปาล์ม
ในส่วนของการตรึงราคาทั้งดีเซลและก๊าซหุงต้ม ในขณะนี้ใช้กองทุนน้ำมันฯเข้ามาดูแลซึ่ง จนถึงสิ้นเดือน ม.ค. 65 เงินกองทุนก็ติดลบไปถึง 14,000 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่บัญชีติดลบจากการดูแลราคาแอลพีจีมา 2 ปี เกือบ 2.5 หมื่นล้านบาท ประเมินกันว่า จากการอุดหนุนที่สูงขึ้น เงินกองทุนจะไหลออกประมาณกว่า 8 พันล้านบาทต่อเดือน ที่มาของเงินกองทุนก็มาจากการจัดเก็บจากผู้ใช้น้ำมัน ซึ่งล่าสุด ครม.อนุมัติกู้เสริมสภาพคล่อง 2 หมื่นล้านบาทและสามารถกู้เพิ่มได้อีก 1 หมื่นล้านบาท นับว่าเป็นวิกฤติของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอีกระลอก โดยในอดีต รัฐบาลหลายสมัยใช้กลไกกองทุนมาอุดหนุนราคาพลังงาน อุดหนุน สูงสุดคือสมัยรัฐบาล “ทักษิณ ชินวัตร” ปี 2544 กองทุนน้ำมันติดลบถึง 82,988 ล้านบาท .-สำนักข่าวไทย