กรุงเทพฯ 17 ม.ค. – สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติหนุนการตรวจหาเชื้อไวรัส ASF ด้วยเทคนิค qPCR ซึ่งมีความแม่นยำและรวดเร็วเพื่อใช้ป้องกันการแพร่ระบาดโรคอหิวาต์สุกรตั้งแต่ต้นทาง
สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ระบุว่า ขณะนี้มีความจำเป็นเร่งด่วนในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์สุกร (ASF) จึงต้องเพิ่มขีดความสามารถในการตรวจวัดปริมาณดีเอ็นเอของเชื้อไวรัส ASF โดยปัจจุบันห้องปฏิบัติการต่างๆ ใช้เทคนิคหลากหลายเช่น การตรวจหาแอนติเจนด้วยวิธีย้อมด้วยแอนติบอดีเรืองแสง (Fluorescent Antibody Test : FAT) จากอวัยวะสัตว์ป่วย การตรวจหาแอนติเจนด้วยวิธี Antigen ELISA การใช้เทคนิค Lateral Flow Assay การเพาะแยกเชื้อไวรัส การหาลำดับสารพันธุกรรม รวมทั้งการตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสด้วยเทคนิค Polymerase Chain Reaction (PCR) ทั้งแบบดั้งเดิม แบบ quantitative real-time PCR (qPCR) แบบ digital PCR (dPCR) หรือแบบประยุกต์ เช่น เทคนิค LAMP เป็นต้น
สำหรับเทคนิค qPCR มีความไวสูงสามารถทราบผลภายใน 2-5 ชั่วโมงจึงเหมาะที่จะนำมาใช้ตรวจในห้องปฏิบัติการ โดยเมื่อตรวจหาเชื้อได้แม่นยำและรวดเร็วจะควบคุมโรคได้อย่างทันสถานการณ์ เนื่องจากไวรัสที่ก่อโรคชนิดนี้ (African Swine Fever Virus: ASFV) เป็นไวรัสที่ติดต่อร้ายแรงในสุกรแพร่กระจายในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นโรคที่กำจัดได้ยาก อีกทั้งในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันโรค ในขณะที่เชื้อไวรัสที่ก่อโรคมีความทนต่อสิ่งแวดล้อม และยังเป็นโรคที่สามารถทำให้สุกรที่ติดเชื้อมีอัตราการตายเฉียบพลันเกือบร้อยละร้อย
สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติซึ่งทำหน้าที่ดูแลมาตรฐานการวัดของประเทศไทย มีบทบาทในการพิสูจน์ความถูกต้อง แม่นยำของกระบวนการวัดและพัฒนามาตรฐานให้แก่ห้องปฏิบัติการสอบเทียบ และทดสอบภายในประเทศไปสู่ระดับสากล เล็งเห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ของการเข้าร่วมเปรียบเทียบผลระหว่างห้องปฏิบัติการ รวมถึงการใช้วัสดุอ้างอิงรับรอง ซึ่งวิธีนี้เป็นกระบวนการหนึ่งของการควบคุมคุณภาพทั้งจากภายใน และภายนอกนำไปสู่การให้ผลการวิเคราะห์ทางชีวภาพ มีความถูกต้องและน่าเชื่อถือ.-สำนักข่าวไทย