กรุงเทพฯ 12 ม.ค.-ก.พลังงานตามติด ราคาน้ำมันดิบที่พุ่งเกิน 83 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล พร้อมดูภาพรวมอาจต้องกู้เพิ่ม กว่า 2 หมื่นล้านบาทหลังตรึงราคาก๊าซหุงต้มถึงสิ้นเดือนมีนาคม ส่วนช่วงเปลี่ยนผ่านสัมปทาน”เอราวัณ” ย้ำรายใหม่ให้รักษากำลังผลิตปัจจุบันให้มากที่สุด แย้มชิปเปอร์รายใหม่อาจนำเข้าแอลเอ็นจีรวม 2.7 ล้านตัน ราคาน้ำมันดิบปิดวานนี้ ปรับตัวเพิ่มแรงกว่า 2 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ราคาตลาดเบรนท์ เคลื่อนไหวกว่า 83 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่ากระทรวงได้มอเนิเตอร์ราคาโดยตลอด ซึ่งตามนโยบาย จะดูแลดีเซลไม่ให้สูงกว่า 30 บาทต่อลิตร ในขณะที่ ราคาก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือน คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.)ขยายเวลา ให้คงราคาไว้ที่ 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ไปถึงสิ้นเดือนมีนาคม จากเดิมสิ้นสุดเดือนมกราคมนี้ คาดว่าจะต้องใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาอุดหนุน เพิ่มขึ้น ราว 1,700 ล้านบาท/เดือน
“ หลังสิ้นสุด เดือนมีนาคม ก็จะสิ้นสุดฤดูหนาว ซึ่งปกติแล้ว ราคาพลังงานโลก จะลดลงและจะทำให้ไทยอาจจะลดการอุดหนุนราคาพลังงานลงได้ ซึ่งการอุดหนุนทั้งน้ำมันและแอลพีจี ในขณะนี้ใช้สภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการดูแลที่ยังมีเหลือจากยังไม่ได้ถึงเวลาชำระ แม้ว่า ตัวเลขทางบัญชีจะติดลบกว่า 7 พันล้านบาทก็ตาม ส่วนจะต้องกู้เพิ่มจากเป้าหมายเดิม 2 หมื่นล้านบาทหรือไม่ หากจำเป็นก็อาจจะต้องดำเนินการ โดย กบง.เห็นชอบขยายวงเงินกู้ไว้แล้วเป็น 3 หมื่นล้านบาท ในขณะเดียวกัน ก.พลังงานก็จะออกมาแคมเปญรณรงค์ประหยัดพลังงานมาควบคู่ด้วย”ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าว
ทั้งนี้ เดิม กระทรวงพลังงานวางแผนเสนอใช้เงินกู้จาก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทจำนวน 2,570 ล้านบาท มาร่วมดูแลราคาก๊าซหุงต้ม เพราะเป้าหมายหลักคือลดผลกระทบประชาชนจากโควิด-19 แต่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ท้วงติงว่าไม่ถูกวัตถุประสงค์ เพราะการช่วยเหลือจะต้องส่งเงินตรงให้แก่ประชาชน หรือใช้ก๊าซฯเฉพาะครัวเรือนจริงๆ ไม่ใช่มีการนำไปใช้สำหรับรถยนต์หรืออื่นๆ ซึ่งกระทรวงพลังงานกำลังวางระบบตรวจสอบป้องกันเรื่องนี้ โดยหากไม่สามารถใช้เงินส่วนนี้ได้ ก็คงจะต้องใช้เงินกู้ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ล่าสุด สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) กำลังเจรจากับสถาบันการเงินต่างๆ กู้เงินก้อนแรก 2 หมื่นล้านบาท และคาดว่าจะเสร็จสิ้นได้เงินมาเติมสภาพคล่องใน เดือนมีนาคมนี้
ทั้งนี้ กบง.ได้มีมติ ตรึงราคาก๊าซหุงต้ม 318 บาท/ถัง เพื่อลดผลกระทบประชาชนจากโควิด-19 มาเป็นเวลา ประมาณเกือบ 2 ปี ใช้เงิน ตรึงราคาจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ล่าสุด ใช้เงินอุดหนุนราคาไปแล้ว 23,564 ล้านบาท ประกอบกับ กองทุนน้ำมันฯต้องดูแลราคาดีเซลไม่เกิน 30 บาท/ลิตร ส่งผลให้ ณ วันที่ 9 ม.ค. 65 กองทุนน้ำมันฯมีฐานะ ติดลบแล้ว7,327 ล้านบาท
ส่วนเรื่องก๊าซฯในอ่าวไทย ที่มีปัญหาลดลง โดยเฉพาะจากการส่งมอบพื้นที่แหล่งปิโตรเลียมเอราวัณล่าช้าจน บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.)ไม่สามารถผลิตได้ตามแผน 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน นั้น ปลัดกระทรวงพลังงานย้ำว่า กระทรวงพลังงานบริหารจัดการให้มีก๊าซไม่ขาดแคลน โดยในขณะนี้ พยายามให้ ปตท.สผ.รักษากำลังผลิตในช่วงเปลี่ยนผ่านให้ได้ 500-600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่หากดำเนินการไม่ได้ ตามที่รับรายงานก่อนหน้านี้คือผลิตได้ราว 300-400 ล้านลูกบาศ์กฟุตต่อวัน กระทรวงฯก็ได้เตรียมแผนงานในการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงอื่นๆ รวมทั้งนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี )เพิ่มขึ้น ซึ่งเบื้องต้น บมจ.ปตท.จะนำเข้าเพิ่มราว 1.8 ล้านตัน และ อีก 2.7 ล้านตันจะเป็นการนำเข้าตามระบบแข่งขันตลาดเสรี หรือชิปเปอร์รายใหม่ต่างๆ แต่หากราคายังสูงจนทำให้ชิปเปอร์นำเข้าไม่ได้ ก็เป็นหน้าที่ของ ปตท.จะนำเข้า โดย รายละเอียดทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน( กกพ.) กำลังทำข้อมูลทั้งหมด โดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ได้สั่งการให้ดูแลพลังงานให้มั่นคงไม่ขาดแคลน และมีราคาที่กระทบผู้บริโภคน้อยที่สุด .-สำนักข่าวไทย
.