กรุงเทพฯ 10 ม.ค.- กบง.ประชุมพรุ่งนี้ (11ม.ค.) จับตาเปลี่ยนใจไม่ขึ้นราคา LPG ครัวเรือน หลังตรึงราคาเพื่อลดผลกระทบโควิด-19 ที่ 318 บาท/ถัง 15 กก. มานานเกือบ 2 ปี หวังลดผลกระทบจากค่าครองชีพพุ่ง
นายสุรศักดิ์ อยู่คงพัน นายกสมาคมผู้ค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เปิดเผยว่าในขณะนี้ รอติดตามวันพรุ่งนี้ (11 ม.ค.) ว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน จะพิจารณาปรับราคาหรือตรึงราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลวหรือ LPG ภาคครัวเรือนถังขนาด 15 กิโลกรัม(กก.)ที่ 318 บาทต่อไปหรือไม่ จากแผนเดิมที่จะสิ้นสุดวันที่ 31 ม.ค. 65 ซึ่งหวังว่าจะ ตรึงราคาต่ออย่างน้อย 1-2 เดือน เพื่อดูแลค่าครองชีพของประชาชนที่ยังคงเปราะบางจากผลกระทบของโควิด 19 และขณะนี้ราคาสินค้าหลายอย่างปรับขึ้น หากยิ่งขึ้นราคาก๊าซหุงต้มก็จะยิ่งซ้ำเติมภาคประชาชน
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) กล่าวว่า สนพ.เตรียมเสนอแนวทางการดูแลราคา LPG ภาคครัวเรือนต่อกบง.เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่ตรึงไว้ 318 บาทต่อถัง 15 กก.ที่จะสิ้นสุด 31 ม.ค.นี้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนและคำนึงถึงฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงประกอบด้วยแต่ท้ายสุดแล้วแนวทางและรูปแบบจะเป็นอย่างไรอยู่ที่ประชุมกบง.จะพิจารณาเป็นสำคัญ
นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(สกนช.) กล่าวว่า จากการตรึงราคา LPG ครัวเรือนที่ 318 บาทต่อถัง 15 กก.มาประมาณ 2 ปีเพื่อดูแลผลกระทบให้ประชาชนช่วงโควิด-19 ขณะนี้ฐานะกองทุนน้ำมันสุทธิฯ ติดลบแล้วกว่า 6,000 ล้านบาท โดยบัญชี LPG ติดลบแล้วกว่า 23,000 ล้านบาท บัญชีน้ำมันเป็นบวก 17,000 ล้านบาท ซึ่งจากการติดตามราคาน้ำมันและ LPG ใกล้ชิดยอมรับว่าราคาพลังงานภาพรวมมีความผันผวน ซึ่งปกติแล้ว ทิศทางราคา LPG หลังสิ้นฤดูหนาว ราคาจะเริ่มลดลงได้
“ในขณะนี้กองทุนน้ำมันแบกภาระสูง ซึ่งตามพ.ร.บ.กองทุนน้ำมันฯตามแผนรองรับวิกฤตการณ์ราคา LPG ก็ระบุชัดในการดูแลค่าครองชีพประชาชนสามารถทำได้แต่แนวทางและรูปแบบอยู่ที่กบง.จะพิจารณา โดยแผนการกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องกองทุนน้ำมันฯ 20,000 ล้านบาทยังอยู่ระหว่างดำเนินการให้สถาบันการเงินเสนอแผนที่กำหนดสิ้นสุด 31 ม.ค.นี้ ”นายวิศักดิ์กล่าว .-สำนักข่าวไทย