นนทบุรี 27 ธ.ค.- รมว.พาณิชย์ เผยตัวเลขส่งออกปี 64 สุดปัง เพิ่มขึ้น 16% คิดเป็นมูลค่า 8 ล้านล้านบาท นำโดยสินค้าเกษตร เกษตรอุตสาหกรรม คาดปี 65 โตอีกร้อยละ 3-4
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน ด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ครั้งสุดท้ายของปี 2564 ว่า ที่ประชุม กรอ.พาณิชย์ ได้มีการสรุปตัวเลขการส่งออกประจำปี 2564 แม้จะยังไม่ถึงสิ้นปี แต่ประเมินว่า การส่งออกจะเป็นบวกร้อยละ 16 คิดเป็นเงินตราเข้าประเทศประมาณ 8,585,600 ล้านบาท หมวดสินค้าที่สำคัญ คือ 1. การเกษตร 2. เกษตรอุตสาหกรรม 3. อุตสาหกรรม ซึ่งจะต้องรอตัวเลขจริงอีกครั้งในเดือนธันวาคม
ส่วนการคาดการณ์ตัวเลขการส่งออกในปี 2565 กระทรวงพาณิชย์ คาดว่า ยอดการส่งออกจะยังขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3-4 คิดเป็นตัวเลขการส่งออกประมาณ 9 ล้านล้านบาท หรือ 2.8 แสนดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าปี 2564 ถึงกว่า 4 แสนล้านบาท โดยปัจจัยที่นำมาพิจารณา คือ เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ อัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำมันดิบ ราคาสินค้าเกษตร ราคาวัตถุดิบเฉลี่ยของโลก สถานการณ์โควิด การขนส่ง ค่าระวางเรือ และทูตพาณิชย์จากทั่วโลก จัดทำตัวเลขประเมิน
สำหรับสินค้าที่มีแนวโน้มดี คือ 1. สินค้าเกษตรและอาหาร เช่น ข้าว ผลไม้ กุ้ง น้ำตาลทราย อาหารสัตว์เลี้ยง 2. สินค้าเวิร์กฟอร์มโฮม เช่น คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า 3. สินค้าเวชภัณฑ์ 4. วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้าขั้นต่อไป เช่น เหล็ก เม็ดพลาสติก ยางรถยนต์
ส่วนปัจจัยที่สนับสนุนการส่งออกในปีหน้าให้มีอัตราขยายตัว คือ การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก OECD คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5, การนำเข้าของประเทศคู่ค้า เช่น สหรัฐ จีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป, ปัจจัยค่าเงินบาทที่คาดว่าจะยังเอื้อต่อการส่งออกที่อัตรา 32-33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ, การผลิตตู้คอนเทนเนอร์เพื่อส่งออกสินค้าจากจีน, การเติบโตของธุรกิจด้านไอที, การแก้ไขสถานการณ์โควิด ซึ่งคาดว่าปีหน้าจะดีขึ้น และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค 15 ประเทศ หรือ “อาร์เซ็ป” ที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565
สำหรับการคาดการณ์ตัวเลขการค้าชายแดนและการค้าข้ามแดน ปี 2564 เป็นบวกร้อยละ 32 ทำรายได้จากการส่งออก ขาดเดียวทั้งปี 2564 คือ 1 ล้านล้านบาท ส่วนตัวเลขในปี 2565 คาดว่าจะเป็นบวกร้อยละ 5-7 หรือคิดเป็นมูลค่าเงิน 1.07-1.08 ล้านบาท โดยมีมูลค่าการค้าชายแดน ทั้งนำเข้าและส่งออกที่ 1.78-1.82 ล้านล้านบาท
สำหรับปัจจัยเสี่ยงของการส่งออกในปี 2565 ยังคงเป็นประเด็นใกล้เคียงกับปี 2564 คือ สถานการณ์ระบาดของโควิด การขาดแคลนแรงงาน การขาดแคลนวัตถุดิบบางประเภท เช่น เซมิคอนดักเตอร์ และมาตรการหรือความเข้มข้นด้านสาธารณสุขของประเทศใดประเทศหนึ่ง เช่น บริเวณด่านพรมแดน
ส่วนเรื่องรถไฟลาว-จีน มีการพูดคุยกันว่าจะเป็นอีกเส้นทางที่จะช่วยเพิ่มช่องทางการส่งออกสินค้าไทยไปยังลาวและจีน จึงเตรียมเรียกประชุมหน่วยงานราชการและภาคเอกชนทุกฝ่าย ช่วงเดือนมกราคมนี้ ที่ จ.หนองคาย เพื่อหาข้อสรุปว่า ในภาคการปฏิบัติจริงจะทำอย่างไรให้สินค้าไทยสามารถส่งออกโดยใช้เส้นทางดังกล่าวโดยเร็วที่สุด
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ระบุว่า ขอชื่นชมและขอบคุณกระทรวงพาณิชย์ในการทำงาน โดยช่วงต้นปี 2564 ซึ่งยังไม่มีการระบาดรุนแรงของโควิดสายพันธุ์เดลตา มีการตั้งเป้าการส่งออกเติบโตร้อยละ 4 แต่จากการสนับสนุนของกระทรวงพาณิชย์ทำให้ตัวเลขการส่งออกเติบโตเกินร้อยละ 15 ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดี เมื่อภาครัฐมีบทบาทสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรม ขณะเดียวกัน ค่าเงินบาทที่เคยสร้างความเจ็บปวดให้ผู้ส่งออก แต่ขณะนี้ค่าเงินบาทอยู่ที่ 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เกิดขึ้นจริงจากการทำงานระหว่างภาครัฐและเอกชนที่มีความเข้าใจกัน และมีการปลดล็อกปัญหาสำคัญๆ ไม่ใช่ระหว่างหน่วยงานราชการ แต่ยังรวมถึงในต่างประเทศด้วย ซึ่งแม้กระทรวงพาณิชย์จะตั้งเป้าการส่งออกปีหน้าร้อยละ 3-4 แต่ กกร.เชื่อมั่นว่าจะทำให้ตัวเลขการส่งออกเติบโตได้ถึงร้อยละ 3-5
ส่วนปัญหาโควิดสายพันธุ์โอไมครอนนั้น ขณะนี้มีสายพันธุ์ที่ร้ายแรงกว่าแล้วในอินเดีย ดังนั้น สุดท้ายการระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่ๆ จะกลายเป็นปัญหาปกติ ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังมีแผนจัดหาวัคซีนมาเพิ่มเติมอีกอย่างต่ำ 120 ล้านโดส จึงเป็นหลักประกันว่าจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันได้เพิ่มขึ้น พร้อมเผยว่า ล่าสุดนักลงทุนญี่ปุ่นที่ไปลงทุนในเวียดนาม เริ่มหันกลับมาไทย รวมถึงนักลงทุนจากจีนที่มาลงทุนในไทยมากขึ้น
ดร.ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวถึงปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมว่า ข้อมูลแรงงานต่างด้าวที่มีอยู่ก่อนช่วงโควิด อยู่ที่ 2.95 ล้านคน แต่การสำรวจเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว เหลือเพียง 2.3 ล้านคน เท่ากับแรงงานที่หายไปจากระบบ คือ 6 แสนคน แต่เนื่องจากตัวเลขการส่งออกของไทยเติบโตขึ้นมากในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม จึงประเมินว่ายังขาดแคลนแรงงานอีกราว 2-4 แสนคน ดังนั้น สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการ คือ ทำอย่างไรให้การนำเข้าแรงงานมีความสะดวดกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพกว่าเดิม เช่น วันสต็อปเซอร์วิส เพื่อลดระยะเวลาการนำเข้าแรงงาน จากเดิมใช้เวลา 30-60 วัน.-สำนักข่าวไทย