กรุงเทพ 20 ธ.ค. – สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ยืนยัน มีสภาพคล่องในการบริหารจัดการ แม้ฐานะกองทุนฯจะติดลบกว่า 3 พันล้านบาท จับตาการประชุม กบง.พฤหัสบดีนี้ ว่าจะคงชดเชยราคา LPG หรือไม่
นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.)แถลงผลการดำเนินงานของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงปี 2564 และทิศทางนโยบายปี 2565 ว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกปี 2564 ยังคงผันผวน จากสถานการณ์โควิด-19 และการเพิ่มลดกำลังผลิตของกลุ่ม opec+ ทำให้สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องปรับตัวรับมือ อย่างไรก็ตาม ช่วงเดือน พฤศจิกายน –ธันวาคม ราคาน้ำมันดิบตลาดดูใบปรับตัวลง ซึ่งเป็นทิศทางที่ดีขึ้น ทางกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมองว่าหากผ่านพ้นฤดูหนาว ในเดือนกุมภาพันธ์ไปแล้วสถานการณ์ราคาน้ำมันจะดีขึ้น
ปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังช่วยเหลือประชาชน โดยชดเชยราคาน้ำมันดีเซลไม่เกินลิตรละ 30 บาท ส่วน LPG ไม่เกิน ราคา 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ทำให้เดือนธันวาคม 2564 กองทุนฯ มีรายจ่ายเฉลี่ยเดือนละ 5,963 ล้านบาท โดยเป็นรายจ่ายด้านน้ำมัน 4,276 ล้านบาท ส่วน LPG 1,687 ล้านบาท ทำให้ประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 19ธันวามคม 2564 น้ำมันเชื้อเพลิง 19,223 ล้านบาท ส่วน LPG -22,295 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม แม้ว่าฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะติดลบถึง 3,072 ล้านบาท แต่ยืนยันว่ากองทุนฯ ยังคงมีสภาพคล่องในการบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดยขณะนี้ทางกองทุนฯ ชดเชยราคา LPG อยู่กิโลกรัมละ 13 บาท ทำให้ราคาขาย LPG อยู่ที่ 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ซึ่งตามแผนรองรับวิกฤตพลังงานจะต้องปรับราคาเป็น 363 บาทต่อถัง แต่เนื่องจากประชาชนได้รับความเดือดร้อน ทางกบง.มีมติให้ตรึงราคาอยู่ที่ 318 ต่อถัง 15 กิโลกรัม และยืนราคาต่อเนื่อง ไปจนถึง 31 ธันวาคมนี้ ส่วนจะขยายตรึงราคาไปอีกหรือไม่ จะต้องติดตามผลการประชุม กบง.วันที่ 23 ธันวาคมนี้ ทั้งนี้แต่หากต้องมีการขยับราคาก็ต้องไม่เกินถังละ 363 บาท
ขณะที่ความคืบหน้าการกู้เงิน 2 หมื่นล้านบาท ตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 นั้น หลังจากส่งหนังสือไปยังสถาบันการเงิน 10 แห่ง ซึ่งมีกำหนดตอบกลับภายในวันที่ 31 มกราคม 2565 ทางกองทุนฯได้รับการติดต่อจากสถาบันการเงินหลายแห่ง คาดว่าเงินกู้ดังกล่าวจะเข้ามาภายในเดือนมิถุนายน 2565 นอกจากนี้ยังมีเงินกู้ตามพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) อีก 1 หมื่นล้านบาท แต่ในส่วนนี้ต้องรอบรรจุไว้ในแผนของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) ก่อน
ส่วนแผนการดำเนินงานของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงปี 2565 กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงกำหนดไว้ 4 แผน ประกอบด้วย 1.การทบทวนแผนรองรับวิกฤตด้านน้ำมันเชื้อเพลิง โดยใช้วิธีการปรับตัวเลขทางเศราฐกิจ เพื่อศึกษาระดับราคาวิกฤต ในกลุ่มน้ำมันดีเซลและ LPG ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน 2.ยกระดับระบบเชื่อมโยงข้อมูลกรมสรรพสามิตและสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณกลางปีหน้า หากการเชื่อมระบบเสร็จเรียบร้อยจะช่วยให้การจัดการจะมีความรวดเร็ว แม่นยำ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีกระบวนการเบิกจ่ายเงินชดเชยที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น 3.การทบทวนแผนยุทธศาสตร์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2566-2570 ให้สอดคล้องกับช่วงเวลาและเป้าหมายของแผนต่างๆ ที่กำหนดไว้ 4.แผนลดการจ่ายเงินชดเชยเชื้อเพลิงชีวภาพที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งเดิมกำหนดไว้ให้ลดการชดเชยให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี (สิ้นสุดวันที่ 24 กันยายน 2565) แต่ก็สามารถขยายระยะเวลาออกไปได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 2 ปี .–สำนักข่าวไทย