ทีทีบี ชี้ 3 ปัจจัยท้าทายเศรษฐกิจการเงินไทยปี 65

กรุงเทพฯ 16 ธ.ค.- ttb analytics ชี้ 3 ปัจจัยท้าทายการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2565 “จุดอ่อนเศรษฐกิจไทย-ทิศทางการดำเนินนโยบายระดับโลก-พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป” แนะเร่งปรับตัวเพื่อรับมือ


ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทยธนชาต (ttb analytics) เปิดเผยว่า ในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่นี้ ถือเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวต่อเนื่องตามการส่งออกสินค้าและสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีแนวโน้มคลี่คลาย โดยมีปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมจากการเปิดประเทศที่เป็นไปตามแผน และนักท่องเที่ยวต่างชาติที่สนใจเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีทิศทางเพิ่มขึ้น แม้จะมีความเสี่ยงจากสถานการณ์โควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนก็ตาม โดยประเมินว่า ปัจจัยบวกเหล่านี้จะส่งผลดีไปยังโมเมนตัมเศรษฐกิจปี 2565 ให้ฟื้นตัวดีต่อเนื่อง ยกเว้นกรณีที่เกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ภายในประเทศอย่างมีนัยสำคัญ จนต้องเข้าสู่ภาวะล็อกดาวน์อีกครั้ง

สิ่งสำคัญอีกประการ คือ ความท้าทายด้านเศรษฐกิจการเงินในปี 2565 ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจต้องเร่งปรับตัวให้ทัน เพื่อรักษาเสถียรภาพการเติบโตของเศรษฐกิจและภาคธุรกิจระยะยาวให้ได้หลังยุคโควิด-19 โดยเมื่อจัดกลุ่มปัจจัยท้าทายด้านเศรษฐกิจการเงินตามเกณฑ์แหล่งที่มาของผลกระทบ แบ่งออกได้เป็น 3 ด้าน คือ 1. จุดอ่อนของภาคส่วนเศรษฐกิจไทย 2. การปรับเปลี่ยนทิศทางการดำเนินนโยบายในระดับโลก และ 3. พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงทั่วโลก


สำหรับจุดอ่อนของภาคเศรษฐกิจไทย มีปัจจัยหลักมาจาก

1.1) ความผันผวนของต้นทุนด้านอุปทานที่จะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อไทยมากขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนนำเข้าจากต่างประเทศ โดยความผันผวนด้านราคาสินค้าตลาดโลกในปัจจุบันมาจากภาคการผลิตที่หยุดดำเนินการในช่วงเกิดการแพร่ระบาด ทยอยกลับมาเปิดดำเนินการ แต่ในหลายส่วนยังไม่สามารถผลิตสินค้าได้เพียงพอกับความต้องการทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วได้ อีกทั้งสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตทางการเกษตรลดลง ประกอบกับอาจทำให้ความต้องการสินค้าบางประเภทเพิ่มขึ้นรวดเร็ว อาทิ ความต้องการพลังงานในช่วงฤดูหนาวที่ยาวนานกว่าปกติเช่นในปีนี้ แม้ประเมินว่าปัญหาด้านอุปทานจะทยอยคลี่คลายหลังกลางปี 2565 เป็นต้นไป แต่ภาคธุรกิจไทยที่เปราะบางจึงจำเป็นต้องพยายามลดต้นทุนที่เกิดขึ้น หาพลังงานทดแทน และลดความผันผวนจากต้นทุนนำเข้าต่างประเทศ (Imported Price) เพื่อคงความสามารถในการทำกำไรเอาไว้

1.2) ปัญหาโครงสร้างนักท่องเที่ยวต่างชาติที่กระจุกตัวอยู่ในบางประเทศมีอัตราสูง โดยเฉพาะจีนและประเทศในกลุ่มอาเซียน ทำให้รายได้ภาคการท่องเที่ยวเผชิญกับความอ่อนไหวเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้น ดังนั้น ภาครัฐและภาคธุรกิจควรร่วมมือกันเร่งกระจายนักท่องเที่ยวเป้าหมายไปยังกลุ่มประเทศอื่น ๆ พร้อมกับเพิ่มกิจกรรมการท่องเที่ยวที่สามารถทำมูลค่าเพิ่มได้ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวกลุ่มเดินทางด้วยตัวเอง (FITs) ซึ่งมีอำนาจใช้จ่ายต่อคนสูงกว่าประเภทกรุ๊ปทัวร์ ก็จะสามารถช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางรายได้ให้แก่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวไทยและเพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคส่วนเศรษฐกิจอื่น ๆ


ส่วนความท้าทายด้านที่ 2 จากการปรับเปลี่ยนทิศทางการดำเนินนโยบายในระดับโลก มีปัจจัยดังนี้

2.1) การเปิดกว้างทางการค้าระหว่างประเทศที่ลดลง โดยเฉพาะในเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น จีนและอินเดีย ซึ่งแม้ว่าอุปสรรคการค้าในด้านภาษี (Tariff Barrier) ทั่วโลกจะลดลงต่อเนื่อง แต่มีแรงสั่นสะเทือนอีกครั้งหลังเกิดสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน อุปสรรคที่ไม่ใช่ด้านภาษี (Non-tariff Barrier) เช่น สิทธิบัตร ฯลฯ ยังคงอยู่ในระดับสูงและไม่มีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะกลุ่มเอเชียและแปซิฟิก ที่ถือว่ามีอุปสรรค Non-tariff Barrier มากที่สุด อีกทั้งการดำเนินนโยบายพึ่งพาตนเองทางด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของจีนจะส่งผลกระทบเพิ่มเติมต่อแนวโน้มการค้าการลงทุนของโลกด้วย ดังนั้น แนวทางการพิจารณาสร้างความสัมพันธ์ผ่านข้อตกลงร่วมทางการค้าระหว่างประเทศ จึงเป็นหนทางหนึ่งที่อาจช่วยลดทอนอุปสรรคทางการค้าลงได้

2.2) แนวนโยบายร่วมกันลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีผลให้ภาคธุรกิจและภาครัฐประเทศต่างๆ แสวงหาเทคโนโลยี นวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สนับสนุนพลังงานสะอาด พร้อมออกนโยบายสนับสนุนวิธีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หากธุรกิจและนโยบายประเทศใดปรับตัวสอดรับไม่ทันกับแนวทางการดำเนินนโยบายระดับโลกที่เปลี่ยนไป อาจต้องเผชิญการสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจการค้าการลงทุนได้ ดังนั้น การเร่งปรับตัวผ่านการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมและพลังงานที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม จึงเป็นเรื่องสำคัญ

ความท้าทายด้านที่ 3 จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ทั้งการทำงานจากที่บ้าน (Work Form Home) การซื้อสินค้าและบริการ และการชำระเงินผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น ตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และเมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 ยิ่งเป็นตัวเร่งให้ผู้คนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสู่ออนไลน์มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ การมาถึงของชุมชนโลกเสมือนจริง (Metaverse) จะยิ่งเร่งพฤติกรรมทางเศรษฐกิจบนโลกออนไลน์ ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่สำคัญและเป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่

ดังนั้น ปัจจัยเหล่านี้ถือเป็นโอกาสดีที่เร่งให้ภาคธุรกิจต้องเสริมแพลตฟอร์มออนไลน์ และปรับปรุงระบบนิเวศดิจิทัล (Digital Ecosystem) ขององค์กรให้เชื่อมโยงกัน เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า และยังต้องสนับสนุนการทำงานของพนักงานจากบ้านได้อีกด้วย ซึ่งจะสามารถเพิ่มโอกาสให้เข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ ลดต้นทุนการบริหารบุคลากรในองค์กรลงได้ และทำให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจได้เร็วขึ้น สำหรับภาครัฐจะได้รับประโยชน์จากการมีทรัพยากรข้อมูลบนระบบออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อนำมาใช้ในการวางนโยบายบริหารประเทศได้ถูกต้องและตรงตามเป้าหมายมากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้จะยังไม่ทราบล่วงหน้าว่า ความท้าทายทั้ง 3 ด้านจะส่งผลลัพธ์สุดท้ายต่อทิศทางเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกในอนาคตอย่างไร แต่สิ่งสำคัญคือ ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจไทยควรร่วมมือปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทย หาทางรับมือความผันผวนทางต้นทุนเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ เร่งปรับตัวต่อแนวนโยบายระดับโลกที่เปลี่ยนแปลง และสร้างโอกาสเพื่อรองรับพฤติกรรมเศรษฐกิจบนโลกออนไลน์ที่มีมากขึ้น ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย.-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

เลือกตั้งนายก อบจ.อุบลฯ “กานต์” ส่อเข้าป้าย

เลือกตั้งนายก อบจ.อุบลราชธานี “กานต์” หมายเลข 1 จากเพื่อไทย ส่อเข้าป้าย ด้าน ปชน. แถลงยอมรับยังไม่เป็นที่ไว้วางใจ ส่วนอุตรดิตถ์ “ชัยศิริ” อดีตนายก อบจ. ส่อเข้าวิน

วัยรุ่นซิ่งเบนซ์เสียหลักพุ่งเหินฟ้าคารถ 6 ล้อ

รอดตายปาฏิหาริย์! วัยรุ่นซิ่งเบนซ์เสียหลัก ก่อนพุ่งเหินฟ้าติดคาบนรถ 6 ล้อ พลเมืองดีเข้าช่วยเหลือออกมาจากรถ ปลอดภัย

กกต.สั่งเอาผิดอาญา “ชวาล” สส.ปชน. ยื่นบัญชีใช้จ่ายเท็จ

กกต.สั่งดำเนินคดีอาญา “ชวาล” สส.ปชน. ยื่นบัญชีค่าใช้จ่ายเลือกตั้งไม่ตรงความเป็นจริง โทษหนักทั้งจำคุก-ตัดสิทธิ 5 ปี

ข่าวแนะนำ

“ภูมิธรรม” สั่งปิดชายแดนไทย-เมียนมา จ.ตาก 1 เดือน สกัดอหิวาตกโรค

“ภูมิธรรม” สั่งปิดชายแดนไทย-เมียนมา จ.ตาก 1 เดือน สกัดอหิวาตกโรค ไม่ให้ระบาดในไทย พร้อมยกมาตรรักษาสุขภาวะในพื้นที่อย่างเข้มข้น

ฉายารัฐบาลปี67

สื่อทำเนียบฯ ตั้งฉายา ปี 67 “รัฐบาล(พ่อ)เลี้ยง”

สื่อทำเนียบฯ ตั้งฉายา ปี67 “รัฐบาล(พ่อ)เลี้ยง” ฉายานายกฯ “แพทองโพย” ด้าน 7 รัฐมนตรีติดโผ “บิ๊กอ้วน-อนุทิน-ทวี” พ่วง 3 รัฐมนตรีโลกลืม ส่วนวาทะแห่งปี “สามีเป็นคนใต้”

เลือกตั้ง อบจ.อุบลฯ

“กานต์ กัลป์ตินันท์” ชนะเลือกตั้งนายก อบจ.อุบลฯ

“กานต์ กัลป์ตินันท์” ชนะเลือกตั้งนายก อบจ.อุบลราชธานี พร้อมขอบคุณคนเสื้อแดง และนายทักษิณ ชินวัตร ที่ช่วยผลักดัน