กรุงเทพฯ 7 ธ.ค.- “เอกชน-นักวิชาการ” แนะ WHO ต้องชี้แจงความรุนแรงเชื้อ “โอไมครอน” มีมากน้อยเพียงใดให้ชาวโลกรู้ด่วน แต่ยังมั่นใจระยะสั้นไม่กระทบต่อเศรษฐกิจไทย ย้ำ! มาถูกทางเร่งฉีดวัคซีนคุ้มกันหมู่ ระบุหากเชื้อตัวใหม่ไม่รุนแรงปีหน้าเศรษฐกิจไทยโตได้ไม่ต่ำร้อยละ 5
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกล่าวว่า แม้ประเทศไทยจะเจอผู้ติดเชื้อโอไมครอน แล้ว 1 ราย ซึ่งเป็นคนต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทย ทำให้ขณะนี้ตรวจพบเชื้อตัวนี้แล้ว 47 ประเทศนั้น เท่าที่ได้ติดตามอย่างใกล้ชิด ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับความรุนแรงของเชื้อตัวนี้ว่าจะเป็นอย่างไร ดังนั้น เห็นว่าแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลก(WHO) จะต้องสำรวจเชื้อโอไมครอนตัวนี้ว่ามีความรุนแรงสร้างความเสียหายกับชาวโลกอย่างไรและมีตัววัคซีนตัวไหนที่จะป้องกันเชื้อตัวนี้ได้บ้าง เพื่อให้ชาวโลกได้เตรียมตัวและหาทางป้องกันการแพร่เชื้อโอไมครอนกันต่อไป โดยขณะนี้ถือว่าประเทศไทยสามารถเร่งฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อโควิดได้ในระดับที่น่าพอใจ คาดว่าในอีกไม่กี่วันนี้ ไทยจะฉีดวัคซีนได้ถึง 100 ล้านโดส ซึ่งจะทำให้คนไทยมีภูมิป้องกันเชื้อโควิดได้เห็นได้จากขณะนี้ ปริมาณคนติดเชื้อเริ่มลดลงมาอยู่ต่อวันเพียง 3,000-4,000 คนและมองว่าปริมาณนี้น่าจะลดลงได้อีกแน่นอน จึงอยากให้คนไทยที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนให้รีบมารับวัคซีนมากขึ้นเพื่อให้คนไทยมีภูมิคุ้มกันหมู่
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศไทยจะยังไม่ทราบที่แน่ชัดเกี่ยวกับความรุนแรงของเชื้อโอไมครอน แต่ทางรัฐได้ประกาศแนวทางป้องกันชัดเจนเกี่ยวกับการเดินทางเข้ามาในประเทศไทยทั้งคนไทยและชาวต่างชาติอย่างเข้มข้นเพื่อหาเชื้อตัวนี้ไม่ให้เข้ามาในประเทศไทยมากกว่านี้ รวมทั้งยังเชื่อว่าหากคนไทยไม่ประมาทป้องกันตัวตามที่สาธารณสุขกำหนดไว้ เชื่อว่าน่าจะป้องกันการเชื้อได้ ดังนั้น คงจะต้องได้รับความร่วมมือจากคนไทยทั้งประเทศที่จะป้องกันตัวเองให้ดีที่สุด เพราะเชื่อว่าเชื้อโควิดยังจะอยู่กับคนทั่วโลกไปอีกนาน แม้ว่าเชื้อจะกลายพันธุ์ แต่หากทุกคนมีภูมิคุ้มกันก็จะลดการสูญเสียได้
นอกจากนี้ ภาคเอกชนมองว่าจากผลกระทบเชื้อโอไมครอนที่ตรวจพบในหลายประเทศแล้วขณะนี้ ในช่วงระยะสั้นของปีนี้ ไม่น่าจะกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้มากนัก เพราะภาครัฐเดินมาถูกทางหลังจากคลายล็อกดาวน์ในหลายกิจการทำให้บรรยากาศการค้าการลงทุนรวมถึงการท่องเที่ยวในประเทศเริ่มกลับมาดีขึ้นภายใต้มาตรการดูแลของภาครัฐและความร่วมมือของประชาชน หากเป็นเช่นนี้ได้ก็เชื่อว่าจะส่งผลให้อัตราการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจไทยปี 64 จะเป็นบวกได้ร้อยละ 1-1.5 แต่ยังเห็นว่าหากจะให้ได้ผลภาครัฐควรใช้มาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนเพิ่มเติม เช่น โครงการคนละครึ่ง ช้อบดีมีคืน เพื่อส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทยในช่วงปลายปีไปจนถึงต้นปีหน้าได้
นายสนั่นยังกล่าวอีกว่า หากการแพร่เชื้อโอไมครอนไม่รุนแรงและทั่วโลกป้องกันเชื้อตัวนี้ได้ โอกาสที่เศรษฐกิจไทยในปี 65 จากมาตรการกระตุ้นภาครัฐผ่านโครงการจับจ่ายใช้สอยให้กับประชาชนที่มีเม็ดเงินเข้าระบบกว่า 500,000 ล้านบาท รวมทั้งมาตรการด้านการท่องเที่ยวคนต่างชาติเข้ามาเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้น ภาคการส่งออกยังส่งออกสินค้าไทยไปตลาดต่างประเทศทั่วโลกเติบโตได้อีกไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ได้โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ร้อยละ 5 จึงเป็นไปได้สูง แต่หากเชื้อโอไมครอนรุนแรงและเอาไม่อยู่โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะไม่ขยายตัวตามเป้าหมายก็เป็นไปได้เช่นกัน
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจกล่าวว่า หากเชื้อโอไมครอนรุนแรงจนถึงขั้นปิดประเทศและล็อกดาวน์ทั่วโลกโอกาสที่เศรษฐกิจโลกจะกลับมาเติบโตน้อยลง เพราะจะส่งผลกระทบด้านการท่องเที่ยว สายการบิน การส่งออก และการบริโภคของคนทั่วโลกจะกลับมาเหมือนเดิมจากช่วงที่ทั่วโลกได้รับผลกระทบการแพร่เชื้อโควิดในสายพันธุ์ต้นๆ ได้ ดังนั้นในเวลานี้คงต้องติดตามจาก WHO ที่สำรวจเชื้อโอไมครอนว่าจะออกมาว่ารุนแรงแค่ไหนเพื่อให้คนทั่วโลกจะได้เตรียมแผนรับมือกับเชื้อโอไมครอนกันได้ต่อไป
“มองว่าหากเชื้อโอไมครอนไม่รุนแรงโอกาสที่เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวในปีหน้าเป็นไปได้สูงจะส่งผลให้เศรษกิจไทยในปีหน้าเติบโตได้ถึงร้อยละ 4-5 แต่หากเชื้อโอไมครอนรุนแรงและแพร่เชื้อรวดเร็วคุมไม่อยู่ จนถึงขั้นปิดประเทศไปทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยโอกาสที่เศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะเติบโตเท่ากับปี 64 ได้ แต่หากรุนแรงจนต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ประเทศและภาคธุรกิจอีกโอกาสเศรษฐกิจจะติดลบก็เป็นไปได้เช่นกัน แต่ภาพรวมยังเชื่อว่าโอไมครอนจะไม่รุนแรง เห็นได้จากหลังจากหลายประเทศพบคนติดเชื้อตัวนี้มาเกือบ 2 สัปดาห์ยังไม่มีข่าวถึงขึ้นเสียชีวิต ดังนั้น จึงมองว่าวัคซีนที่มีอยู่น่าจะป้องกันเชื้อตัวนี้ได้” นายธนวรรธน์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย