กรุงเทพฯ 17 พ.ย. – อธิบดีกรมอุทยานฯ ระบุ เร่งรัดจัดทำเอกสารเพื่อเสนอให้ “แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน” เป็นแหล่งมรดกโลกแห่งใหม่ของไทย โดยจะให้เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้นของศูนย์มรดกโลกภายในวันที่ 15 เมษายน 2565 หลังครม. เห็นชอบเมื่อวานนี้ (16 พ.ย.)
นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชกล่าวว่า เร่งรัดให้เจ้าหน้าที่รวบรวมข้อมูลและจัดทำเอกสารที่เกี่ยวข้องกับแหล่งมรดกทางธรรมชาติพื้นที่ “แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน” เพื่อให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นำเสนอต่อศูนย์มรดกโลก กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสพิจารณาให้อยู่ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) โดยหากส่งภายในวันที่ 15 เมษายน 2565 จะได้รับการนำเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลกพิจารณาในการประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 เพื่อให้การรับรองการเข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้นของศูนย์มรดกโลก จากนั้นจะสามารถจัดส่งเอกสารเพื่อนำเสนอเป็นมรดกโลกได้ในปี 2566
สำหรับ “แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน” ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัดได้แก่ ระนอง พังงา และภูเก็ต ประกอบด้วย 6 พื้นที่อุทยานฯ และ 1 พื้นที่ป่าชายเลน เนื้อที่ 2,908 ตารางกิโลเมตร แบ่งเป็นพื้นที่นำเสนอ 1,159.55 ตารางกิโลเมตรและพื้นที่กันชน 1,748.45 ตารางกิโลเมตร
เมื่อแบ่งตามลักษณะระบบนิเวศน์มี 3 ลักษณะประกอบด้วย
1.ป่าชายเลนและกลุ่มเกาะชายฝั่ง ครอบคุลมอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนอง แหลมสน ป่าชายเลน และพื้นที่สงวนชีวมณฑลระนอง จังหวัดระนอง มีลักษณะเด่นคือ เป็นป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพ โดยอาจเป็นป่าชายเลนดั้งเดิมที่ไม่ถูกรบกวนผืนใหญ่ที่สุดในมหาสมุทรอินเดีย รวมถึงเป็นพื้นที่ที่มีการบริหารจัดการในการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนของชุมชน
2. หมู่เกาะทะเลลึก ครอบคลุมอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์และสิมิลัน จังหวัดพังงา ลักษณะเด่นคือ มีแนวปะการังที่สวยงามและมีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ พบสัตว์ทะเลขนาดใหญ่ที่หายากเช่น ฉลามวาฬ กระเบนราหู โลมาได้เป็นประจำ
3. ชายหาดและป่าสั่นทรายชายฝั่ง ครอบคุลมอุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง จังหวัดพังงาและอุทยานแห่งชาติสิรินาถ จังหวัดภูเก็ต ลักษณะเด่นคือ มีแนวปะการังทอดตัวยาวขนานกับชายฝั่งถึงเกาะภูเก็ตทางใต้ (เปรียบเทียบได้กับแนวปะการังเกรตแบริเออร์รีฟ ในเครือรัฐออสเตรเลียซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งมรดกโลก) และเป็นแหล่งวางไข่ที่สำคัญของเต่ามะเฟืองที่เหลืออยู่เพียงแห่งเดียวบนชายฝั่งแผ่นดินใหญ่ทางตะวันออกของมหาสมุทรอินเดีย
ทั้งนี้เป็นการนำเสนอขึ้นทะเบียนมรดกโลกภายใต้หลักเกณฑ์ 3 ข้อได้แก่
– หลักเกณฑ์ข้อ 7 คือ ประกอบด้วยปรากฎการณ์ธรรมชาติที่ไม่ธรรมดาหรือพื้นที่ที่มีความงดงามตามธรรมชาติอย่างพิเศษและมีความสำคัญทางสุนทรียศาสตร์
– หลักเกณฑ์ข้อ 9 คือ เป็นตัวอย่างที่โดดเด่นของกระบวนการทางนิเวศวิทยาและชีววิทยาที่ยังดำเนินอยู่ ที่สำคัญต่อวิวัฒนาการและพัฒนาการของระบบนิเวศบก ระบบนิเวศน้ำจืด ระบบนิเวศชายฝั่งและทะเล และต่อสังคมพืชและสังคมสัตว์
– หลักเกณฑ์ข้อ 10 คือ ประกอบด้วยแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติที่สำคัญที่สุด สำหรับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในแหล่งธรรมชาติ รวมทั้งแหล่งที่อยู่ที่มีการคุกคามต่อสิ่งมีชีวิตที่มีคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล จากมุมมองทางด้านวิทยาศาสตร์หรือการอนุรักษ์.- สำนักข่าวไทย