พระนครศรีอยุธยา 15 พ.ย. – อธิบดีกรมชลประทานเผยลดการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงอีก ทำให้ถนนในทุ่งเจ้าพระยาซึ่งถูกน้ำท่วมเริ่มสัญจรได้แล้ว พร้อมสั่งเร่งสูบน้ำเพื่อให้สถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายได้เร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า วันนี้น้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาทวันนี้อยู่ที่ 1,333 ลบ.ม. ต่อวินาทีซึ่งเป็นการระบายน้ำต่ำกว่า 1,500 ลบ.ม.ต่อวินาทีวันที่ 2 ซึ่งกรมชลประทานทำได้เร็วกว่าแผนที่วางไว้ ซึ่งจะทำให้น้ำที่ท่วมถนนในพื้นที่ลุ่มต่ำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีระดับลดลงและเริ่มสัญจรได้ พร้อมกันนี้ให้เร่งสูบน้ำในทุ่งออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา หลังจากที่นำเครื่องสูบน้ำมาติดตั้งเพิ่ม
ทั้งนี้ คาดว่า ไม่เกิน 10 วันจะลดการระบายน้ำเหนือที่เขื่อนเจ้าพระยาลงเหลืออัตรา 700 ลบ.ม.ต่อวินาทีซึ่งจะทำให้ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาด้านท้ายลุ่มน้ำต่ำกว่าตลิ่ง จึงจะเปิดประตูระบายน้ำเพื่อให้น้ำในทุ่งไหลลงสู่แม่น้ำตามธรรมชาติได้ โดยดำเนินการร่วมกับการสูบต่อไปเพื่อให้น้ำลดโดยเร็วที่สุด ตามข้อสั่งการของพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ที่กำหนดให้ระบายให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 22 ธ.ค. 64 โดยจะเหลือน้ำในทุ่งไว้ส่วนหนึ่งสำหรับให้เกษตรกรทำนาปรัง
สำหรับข้อมูลของกอนช. ซึ่งประเมินสถานการณ์น้ำปัจจุบันในทุ่งลุ่มต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาพบว่า มีทุ่งที่จะระบายน้ำออกเสร็จสิ้นภายในเดือนนี้ (พ.ย. 64) 4 แห่ง ได้แก่ ทุ่งท่าวุ้ง มีปริมาณน้ำ 40 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 48% ของความจุ ทุ่งบางกุ่ม มีปริมาณน้ำ 88 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 68% ของความจุ ทุ่งบางบาล-บ้านแพน มีปริมาณน้ำ 85 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 80% ของความจุ ทุ่งบางระกำ มีปริมาณน้ำ 198 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 50% ของความจุ ส่วนทุ่งที่จะระบายน้ำออกเสร็จสิ้นภายในเดือน ธ.ค. 64 มี6 แห่ง ได้แก่ ทุ่งเชียงราก มีปริมาณน้ำ 73 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 92% ของความจุ ทุ่งบางกุ้ง มีปริมาณน้ำ 32 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 118% ของความจุ ทุ่งป่าโมก มีปริมาณน้ำ 60 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 120% ของความจุ ทุ่งผักไห่ มีปริมาณน้ำ 280 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 140% ของความจุ ทุ่งเจ้าเจ็ด มีปริมาณน้ำ 686 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 196% ของความจุ ทุ่งรับน้ำในพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโพธิ์พระยา มีปริมาณน้ำ 172 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 107% ของความจุ ในขณะที่ ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก ขณะนี้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ และเริ่มทำการเกษตรได้แล้ว.- สำนักข่าวไทย