กรุงเทพฯ 1 พ.ย.- ธ.ก.ส. เผยผลการดำเนินงานครึ่งปีบัญชี 64 มุ่งดูแลเกษตรกรก้าวผ่านวิกฤตโควิดและภัยธรรมชาติ พร้อมขับเคลื่อนองค์กรผ่านนวัตกรรมสู่ความยั่งยืน
ธ.ก.ส. ก้าวสู่ปีที่ 56 มุ่งดูแลพี่น้องเกษตรกรและผู้ประกอบการภาคเกษตร ก้าวข้ามวิกฤต COVID-19 และภัยธรรมชาติต่าง ๆ ผ่านมาตรการเยียวยา บรรเทา และฟื้นฟู ทั้งในส่วนของโครงการนโยบายรัฐและของ ธ.ก.ส. ส่งผลให้การดำเนินงานในช่วง 6 เดือนแรกของปีบัญชี 64 เติบโตในอัตราที่ลดลงตามสภาวการณ์ โดยมีรายได้รวม 41,084 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวม 39,623 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,461 ล้านบาท ตั้งเป้าครึ่งปีหลัง คัดชุมชนที่มีศักยภาพ มาเป็นกลไกในการสร้างอาชีพรองรับแรงงานคืนถิ่นและคนรุ่นใหม่ 100,000 คน โดยประสานเครือข่ายภาครัฐเอกชนเติมเต็มองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม สร้างการเติบโตแบบยั่งยืน พร้อมจัดสินเชื่อต่อยอดธุรกิจและการให้บริการผ่านระบบ Digital Banking
นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ในโอกาสครบรอบวันสถาปนา ธ.ก.ส. ก้าวสู่ปีที่ 56 ธ.ก.ส. ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาภาคเกษตรกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทยสู่สังคมที่ภาคภูมิ ซึ่งภายใต้สถานการณ์ที่ประเทศไทยและทั่วโลกประสบภาวะวิกฤตจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และความเป็นอยู่ของประชาชน โดยในภาคเกษตรกรรมประสบปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำอันเนื่องมาจากการล็อกดาวน์ การปิดประเทศ ไม่สามารถส่งออกสินค้า ประกอบกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง ทำให้ภาคบริการ เช่น ร้านอาหาร โรงแรมปิดกิจการ จึงขาดผู้รับซื้อผลผลิต ขณะเดียวกันเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่งผลกระทบให้เกิดการเลิกจ้างงาน โดยมีตัวเลขแรงงานคืนถิ่นและบัณฑิตจบใหม่ที่ยังว่างงานจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อดูแลพี่น้องเกษตรกรและผู้ประกอบการในภาคการเกษตร และเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ธ.ก.ส.ได้ดำเนินงานผ่าน 3 มาตรการ ประกอบด้วย
มาตรการเยียวยา โดยขับเคลื่อนงานตามนโยบายรัฐบาล เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ที่เหมาะสมผ่านโครงการประกันรายได้สินค้าเกษตร 5 ชนิด ได้แก่ ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 6,924,413 ราย เป็นเงินกว่า 60,000 ล้านบาท
มาตรการบรรเทา โดยการสร้างภูมิคุ้มกันให้เกษตรกรตามนโยบายรัฐ ผ่านโครงการประกันภัยพืชผล ได้แก่ การประกันภัยข้าวนาปี และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีผู้เข้าร่วมโครงการกว่า 3.68 ล้านราย พื้นที่รวมกว่า 44.8 ล้านไร่ ซึ่งในช่วงที่เกิดอุทกภัย มีเกษตรกรได้รับความเดือดร้อนกว่า 4.6 แสนราย พื้นที่ทางการเกษตรได้รับความเสียหายกว่า 5.3 ล้านไร่ ขณะนี้ได้เร่งประสานงานในการจ่ายค่าสินไหมทดแทน และการดำเนินงานในส่วนของ ธ.ก.ส.เพื่อบรรเทาภาระทางการเงินให้กับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ผ่านโครงการพักชำระหนี้ โดยมีเกษตรลูกค้าได้รับประโยชน์ 1,796,422 ราย ต้นเงิน 551,060 ล้านบาท และการสร้างภูมิคุ้มกันให้เกษตรกรจำนวน 3 โครงการ ได้แก่ การประกันภัยโคนม โคเนื้อ และชาวประมง มีผู้เข้าร่วมโครงการ 2,783 ราย เบี้ยประกัน 3.82 ล้านบาท
มาตรการฟื้นฟู สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรนตามนโยบายรัฐ จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าว สินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมงและสินเชื่อเพื่อพัฒนาเกษตรแบบแปลงใหญ่ มีผู้เข้าร่วมโครงการ 2,266 ราย เป็นเงิน 8,986 ล้านบาท และในส่วนของ ธ.ก.ส.ได้ดำเนินโครงการ สินเชื่อฉุกเฉินดอกเบี้ยต่ำเพื่อเสริมสภาพคล่องด้านการเงินให้กับผู้ประกอบการ สินเชื่อ Soft Loan ของธนาคารแห่งประเทศไทย มาตรการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ (พักทรัพย์ พักหนี้) สินเชื่อเสริมแกร่ง SME เกษตร สินเชื่อสู้ภัย COVID-19 และการฟื้นฟูอาชีพ ผ่านสินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพ สินเชื่อนวัตกรรมดีมีทุน และการสนับสนุนเศรษฐกิจฐานรากผ่านโครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชน สร้างไทย โดยมีวงเงินที่พร้อมสนับสนุนรวม 200,000 ล้านบาท
โดยซึ่งปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมโครงการประมาณ 29,861 ราย เป็นเงิน 14,269 ล้านบาท และในช่วงที่เกิดอุทกภัย ธ.ก.ส. ได้สนับสนุนสินเชื่อฉุกเฉินเพื่อนำไปใช้จ่ายที่จำเป็นภายในครัวเรือน รายละไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ต่อปีเป็นระยะเวลา 6 เดือน วงเงินรวม 10,000 ล้านบาทเป็นต้น.-สำนักข่าวไทย